เพื่อน ๆ เคยประสบปัญหาหนังสือเล่มโปรดแปรสภาพจนเก่าเหมือนหนังสือมือสองบ้างไหมคะ ทั้ง ๆ ที่เราจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยบนชั้นเมื่อไม่กี่ปี แต่หยิบมาอีกทีกระดาษกลับมีรอยจุดด่างหรือออกสีเหลืองจนนึกว่าสีจากปกไหนตกใส่หรือเปล่า วันนี้เราอยากชวนหาวิธีการเก็บหนังสือให้อยู่ในสภาพเดิมไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ต่อให้รู้ว่ากาลเวลาย่อมทำให้ทุกสิ่งแปรเปลี่ยนไปไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็ตาม (…แงงงง)
ก่อนอื่นเรามาดูกันว่า…
ทำไมหนังสือมันถึงได้เปลี่ยนเป็นสีเหลือง?
เรื่องนี้มีคำอธิบายจาก ซูซาน ริชาร์ดสัน (Susan Richardson) ศาสตราจารย์ด้านเคมีแห่งมหาวิทยาลัยเซาท์แคโรไลนา ว่าสาเหตุของการเปลี่ยนสีนั้นเป็นเพราะกระดาษส่วนใหญ่ล้วนทำมาจากไม้ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือเซลลูโลสและลิกนิน โดยเซลลูโลสนั้นเป็นสารที่ไม่มีสีแต่สะท้อนแสงได้ดี มันจึงทำให้เราเห็นหน้ากระดาษเป็นสีขาว แต่บางส่วนนั้นไวต่อการเกิดออกซิเดชั่นเมื่อสัมผัสกับแสงและอากาศโดยรอบ เช่นเดียวกับลิกนิน แต่เมื่อลิกนินเกิดออกซิเดชั่นแล้วมันจะไปเปลี่ยนโครงสร้างของพอลิเมอร์และทำปฏิกิริยากับโมเลกุลภายใน แล้วสะท้อนความยาวของคลื่นแสงที่ทำให้ดวงตาเรารับรู้ว่าเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอย่างที่เห็นเป็นร่องรอยในแต่ละหน้าของหนังสือเรานั่นเอง
ฉะนั้นตัวการสำคัญที่เราจะต้องหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดก็คือออกซิเจน รวมถึงแสงแดดและระดับความชื้นที่อาจเร่งให้เกิดกระบวนการออกซิเดชั่นไวขึ้นด้วย และการควบคุมปัจจัยทั้งหลายก็อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เราอาจใช้วิธีการเหล่านี้เพื่อยื้อชีวิตหน้าหนังสือของเราเอาไว้ได้ค่ะ
5 วิธีทำให้หนังสือเหลืองช้าา…ลง
(1) จัดเก็บไว้ในถุงซิปล็อคที่รีดอากาศออกให้มากที่สุด
หนึ่งในวิธีที่คิดว่าน่าจะมีเพื่อน ๆ หลายคนทำเป็นประจำอยู่แล้วนั่นก็คือการเก็บหนังสือไว้ในถุงซิปล็อค เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันฝุ่นแล้วยังนับว่าเป็นการจัดเก็บที่ไม่ลำบากจนเกินไปนักหากจะหยิบขึ้นมาอ่าน แต่ก่อนจะปิดถุงซิปล็อคเราอาจเพิ่มขั้นตอนการรีดลมออกเพื่อให้อากาศที่จะไปสัมผัสกับกระดาษน้อยลง แล้วจึงค่อยวางเรียงบนชั้นหนังสือของเรา
(2) ซีลพลาสติกให้พอดีกับตัวเล่ม
วิธีนี้อาจทำให้ยุ่งยากสักนิดเมื่อต้องการหยิบอ่านอีกครั้ง แต่การใช้ถุงพลาสติกห่อจนแนบสนิทหรือใช้ฟิล์มหดคู่กับไดร์เป่าผมจะทำให้กระดาษมีโอกาสสัมผัสกับอากาศน้อยลงอย่างมาก และยังทำให้การวางเรียงบนชั้นหนังสือดูสวยงามกว่าด้วย เพราะฉะนั้นหากเป็นหนังสือที่เพื่อน ๆ คิดว่าคงไม่ค่อยมีโอกาสได้กลับมาอ่านเท่าไรนัก อาจเลือกใช้วิธีการเก็บแบบนี้แทนถุงซิปล็อคได้
(3) จัดเก็บไว้ในห้องที่ไม่ร้อนหรือชื้นจนเกินไป
อาจใช้วิธีเทียบเคียงอุณหภูมิโดยใช้ตัวเราเป็นเกณฑ์วัดก็ได้ หากเราอยู่ได้สบายหนังสือก็อยู่สบายด้วยเช่นกัน สำหรับค่าความชื้นที่เหมาะสมจะอยู่ระหว่าง 40 – 50% RH ซึ่งถ้าเราไม่มีเครื่องมือวัดก็อาจใช้วิธีสังเกตโดยใช้ประสาทสัมผัสของเราเอง หมั่นตรวจเช็คบริเวณพื้นที่จัดเก็บหนังสือว่ามีร่องรอยคราบละอองน้ำให้เห็นหรือไม่ โดยอาจต้องระวังเป็นพิเศษในจุดที่ลมแอร์ตกพอดี หรือบริเวณผนังใกล้ห้องน้ำ
สำหรับเพื่อน ๆ ที่หลีกเลี่ยงได้ยากจริง ๆ อาจลองใช้ซองกันชื้นมาเป็นตัวช่วยอีกแรง แต่ก็ต้องคอยตรวจดูสม่ำเสมอเช่นกันนะคะ เนื่องจากซองกันชื้นก็มีวันหมดอายุ และเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดคิดจากซองชำรุด พยายามหลีกเลี่ยงการใส่รวมซองเดียวกันกับหนังสือด้วยนะคะ
(4) หลีกเลี่ยงการจัดวางหนังสือในที่ที่มีแสงแดดส่องถึงหรือแสงประเภทอื่นที่มีความเข้มสูง
หากใครเก็บระยะยาว หลังจากซีลพลาสติกหรือเก็บลงถุงซิปล็อคเรียบร้อยแล้ว อาจมองหากล่องทึบแสงหรือลังกระดาษที่แข็งแรงแล้วซีลปิดผนึกไปเลยก็ได้ค่ะ แต่ก็ต้องคอยระวังปลวกหรือมดแมลงอื่น ๆ จ้องมาทำลายคลังสมบัติของเรากันด้วยนะ
(5) เช็ดฝุ่นและทำความสะอาดบริเวณที่จัดเก็บหนังสืออยู่เป็นประจำ
อาจไม่ได้เกี่ยวกับการทำให้หน้ากระดาษของเราเหลืองน้อยลงโดยตรง แต่การทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีที่จะช่วยให้เราได้ตรวจเช็คอาณาบริเวณที่เก็บหนังสือของเราได้ดีที่สุด บางทีแค่มองผ่าน ๆ เราอาจไม่ทันสังเกตเห็นความผิดปกติเท่ากับได้ยกออกมาปัดกวาดเช็ดถูหรือหยิบมาเรียงเข้าเรียงออกเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของมัน และเพื่อความสะดวกมากยิ่งขึ้น เราอาจหาอุปกรณ์ทุ่นแรงมาใช้ร่วมด้วยก็จะดีไม่น้อย
นี่เป็นวิธีคร่าว ๆ สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากชะลอความเหลืองของหนังสือไปทดลองปรับประยุกต์ใช้กันดู (^ ^) หวังว่าจะเป็นประโยชน์และพอช่วยได้บ้างนะคะ
แต่ไม่ว่าหนังสือจะเก่าแค่ไหนหรือจะเหลืองอย่างไร … ยังไงเล่มโปรดก็จะยังเป็นเล่มโปรดอยู่วันยังค่ำอยู่ดี เนอะ =^ ^=
Reference: Ayalin Woodward. (2018). Why Do Book Pages Turn Yellow Over Time?. Accessed on February 8th, 2024. Retrieved from https://www.livescience.com/63635-why-paper-turns-yellow.html. Shelly Smith. Dos and Don’ts for Taking Care of Your Personal Books at Home. Accessed on February 8th, 2024. Retrieved from https://www.nypl.org/press/dos-and-donts-taking-care-your-personal-books-home.