You can have it all. Just not all at once.
– Oprah Winfrey
หลายคนอาจกำลังรู้สึกท้อใจในการพยายามจัดสรรเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดไปกับงานที่ราวกับจะเข้ามาอย่างไม่มีขีดจำกัด จนบ่อยครั้งก็อยากจะนึกเททุกอย่างทิ้ง เลิกใส่ใจใยดีกับมันซะ แต่ภาระก็กลับทำให้คุณหัวหมุนยิ่งกว่าเก่าเมื่อมารู้ภายหลังว่ายังไงก็ต้องกลับมาจัดการอยู่ดี วันนี้เรามี 5 ขั้นตอนที่อาจช่วยเยียวยาความเจ็บปวดจากการเผชิญหน้าในสิ่งที่สุดท้ายคุณก็ต้องทำอะไรกับมันสักอย่าง ด้วยการหาวิธีให้คุณรู้สึกสนุกสนานไปกับการบริหารเวลา ซึ่งจะทำให้ทุกปัญหามีทางออกที่ดีในการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
ขั้นตอนที่ 1 – ทบทวนตัวเองก่อน
อย่างแรกให้คุณลองนั่งคุยกับตัวเองและทำความรู้จักตัวเองเท่าที่ทำได้สักนิด หลายคนทำงานจนหัวหมุนและลืมการไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบของตัวเองไปแล้ว คุณลองถามตัวเองออกมาว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง หรือความต้องการของตัวเองตอนนี้ บางทีมันอาจจะแค่อยากพักผ่อนเป็นงีบเล็ก ๆ หรือขนมหวานสักชิ้น เมื่อได้คำตอบแล้วให้คุณลงมือทำมันอย่างใส่ใจ อิ่มเอมกับช่วงเวลาสั้น ๆ ตรงหน้า คุณอาจพบว่าหลังการพักอย่างจริงจังสามารถช่วยให้คุณกลับมาโฟกัสกับงานที่ต้องทำได้ดีขึ้น
แต่อย่าเพิ่งลงมือทำจนกว่าจะรู้จักตัวเองเพิ่มอีกนิดนะคะ! ถามตัวเองต่ออีกหน่อยว่าคุณชื่นชอบอะไรและกิจกรรมแบบไหนที่คุณมีความสุขหรือช่วยให้คุณรู้สึกสนุกได้ ถ้าภาพในหัวยังไม่ค่อยชัด ให้ลองเขียนออกมาเป็นข้อ ๆ
ขั้นตอนที่ 2 – ตั้งเป้าหมายให้ชัด
หลังจากที่ได้พักและทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้นแล้ว ทีนี้คุณก็เริ่มหันมาตั้งเป้าหมายของตัวเองกัน คุณอยากให้งานเหล่านั้นเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ หรือผลลัพธ์ที่ต้องการออกมาเป็นแบบไหน จงระบุมันให้ชัดที่สุดเท่าที่จะชัดได้ ทั้งวัน เวลา สถานที่ หรือกระทั่งหน้าตาความสำเร็จที่คุณอยากเห็น หรือหากจำเป็นจะต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิทหรือใครสักคนที่คุณไว้วางใจ ก็ให้ลองตรวจสอบเป้าหมายของคุณกับความเห็นที่สอง แต่อย่าลืมว่าการตัดสินใจทุกครั้ง ให้ออกมาจากความตั้งใจจริงของตัวคุณเองเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 3 – วางแผนแนวทางปฏิบัติด้วยวิธีที่จะทำให้คุณสนุกระหว่างทาง
แน่นอนว่างานส่วนมากไม่ใช่เรื่องสนุก หรือบางทีความสนุกอาจไม่ช่วยให้งานเดินหน้า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าภารกิจของคุณคืออะไร แต่เราอยากให้คุณลองลงมือวางแผนงานโดยผนวกวิธีที่คุณจะสนุกสนานเข้าไปด้วยแบบง่าย ๆ ตามสไตล์ความชอบที่คุณเพิ่งค้นพบ เช่น คุณอาจเป็นแม่บ้านที่มีลิสต์รายการจัดการกับครอบครัวที่ยาวเหยียด แต่คุณรู้ว่าตัวเองชอบขีดเขียนวาดรูป หากเป็นแบบนั้นลองหาสมุดปกสวย ๆ สักเล่มมาเขียน Bujo ไว้จัดการตารางงานของคุณกัน หรือคุณอาจเป็นพนักงานออฟฟิศที่สนุกไปกับการเล่นเกมออนไลน์หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ถ้าเช่นนั้นลองหาแอพลิเคชั่นที่สามารถกำหนดแผนการทำงาน ตั้งเวลาแจ้งเตือนได้ หรือแอพลิเคชั่นที่มีฟังก์ชั่นล้ำ ๆ อินเตอร์เฟสสวย ๆ เท่านี้ก็อาจช่วยสร้างความสนุกเล็ก ๆ ให้กับการเริ่มดำเนินตามแผนการของคุณได้แล้ว
ลองเปิดมุมมองการทำตามแผนของตัวเองด้วยการใส่รายละเอียดความชอบเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ลงไป เพื่อให้คุณจะได้รู้สึกว่าระหว่างการไปถึงเป้าหมาย คุณได้ทำด้วยวิธีการที่คุณชอบ
ขั้นตอนที่ 4 – วัดผลด้วยตัวชี้วัดของตัวเอง
แม้ภารกิจนั้นจะมีตัวชี้วัดตามแบบฉบับของการแข่งขันหรือการทำงานร่วมกับคนหมู่มาก แต่อย่าลืมที่จะวัดผลจากมุมมองของคุณเองเพียงเท่านั้นด้วย เพราะการแข่งขันที่จะทำให้คุณเติบโตไปอีกระดับคือการวัดมันด้วยตัวชี้วัดของคุณเอง หากทุกอย่างสำเร็จเป็นไปตามแผนที่คุณวางไว้ คงไม่มีอะไรให้คุณขัดข้องหมองใจได้ แต่หากไม่…วิธีที่ดีที่สุดคือค้นให้พบว่าคุณมาได้ไกลแค่ไหน จุดผิดพลาดที่ทำให้แผนที่วางไว้ไม่สำเร็จนั้นคืออะไร หรืออุปสรรคไหนที่ทำให้ตัวคุณมาไม่ไกลอย่างที่คิด จงมองหาแล้วปรับปรุงมัน กระบวนการเหล่านี้คือการทำงานกับตัวเองภายใน ไม่ใช่การพยายามหาข้อสรุปจากภายนอก
ขั้นตอนที่ 5 – ใช้ขั้นตอนที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพ
ทีนี้เราอยากให้คุณย้อนกลับไปอ่านข้อแรกของบทความนี้อีกครั้ง ไม่ว่าแผนการของคุณจะเคร่งครัดมากแค่ไหน แต่จงอย่าลืมให้ตัวเองได้มีช่วงเวลาส่วนตัวที่ผ่อนคลายและหมั่นสอบถามความเป็นไปของตัวเองอยู่เสมอ มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่แสนเล็กน้อยแต่มีประสิทธิภาพมาก จากผลการศึกษาโดยบริษัทตรวจสอบบัญชี Ernst & Young ที่ทำการทดลองกับพนักงานของเขาเมื่อปี 2006 พบว่าพนักงานที่ลาพักร้อนเพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 ชั่วโมง การประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาจะดีขึ้นถึง 8% ในปีถัดไป
หวังว่า 5 ขั้นตอนที่กล่าวมาจะพอเป็นแนวทางให้กับเพื่อน ๆ ที่หาวิธีบริหารเวลาชีวิตให้มีความสุขกันได้นะคะ ^^ สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่อยากลองหาหนังสือสักเล่มไว้ศึกษาแนวทางการจัดการเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดกับบริบทของตนเอง เรามีมาแนะนำ 3 เล่ม ว่าด้วยเรื่องวิธีบริหารเวลากับการจัดการงานและชีวิตที่มีเนื้อหานำเสนอทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามไปดูกันเลย
หนังสือเกี่ยวกับการบริหารเวลา จัดการงานและชีวิต
Eat That Frog! กินกบตัวนั้นซะ
บอกเล่าวิธีจัดการงานสูตรเข้มข้นในแบบของไบรอัน เทรซี นักบริหารเวลาตัวพ่อ ที่จะช่วยให้คุณเปลี่ยนงานในมือให้กลายเป็นกบตัวเล็กตัวใหญ่ แล้วตัดสินใจว่าจะจัดการเจ้ากบตัวไหนก่อนดี
The Bullet Journal Method วิถีบันทึกแบบบูโจ
หนังสือที่จะแนะนำหลักการการทำ Bullet Journal อย่างครบถ้วน ซึ่งช่วยให้คุณจัดการตารางเวลาชีวิตได้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะผู้ที่รักการขีดเขียน
Four Thousand Weeks ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์
เพราะความจริงคือชีวิตเรามีข้อจำกัด และข้อจำกัดนั่นต่างหากที่จะทำให้สิ่งที่เราเลือกมีความหมาย ชวนศึกษาศาสตร์แห่งการจัดการชีวิตด้วยวิธีตัดสินใจ “เลือก”