“บรรดาพ่อแม่ที่ตั้งอกตั้งใจเปิดเพลงโมซาร์ทให้ลูกฟังคงผิดหวังน่าดู
เมื่อได้รู้ว่า แท้จริงแล้วอัจฉริยภาพของเขาเกิดขึ้นจากการฝึกฝนอย่างบ้าคลั่งต่างหาก”
(อเล็กซ์ รอสส์ – นักวิจารณ์ดนตรี นิตยสาร เดอะ นิวยอร์กเกอร์)
✒️ ประวัติผู้เขียน Geoff Colvin
Geoff Colvin นักคิด นักเขียน และนักพูดด้านการเงินและธุรกิจ จบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการอาวุโสของนิตยสาร Fortune พร้อมทั้งจัดรายการวิทยุและเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการก้าวเข้าสู่ความสำเร็จอย่างเต็มศักยภาพในเป้าหมายที่คุณวางไว้ผ่านการฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างจดจ่อ โดยไม่เชื่อว่าต้องเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์เท่านั้นจึงจะบรรลุความเป็นเลิศของการประสบความสำเร็จได้ : เนื้อหาส่วนใหญ่ใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาของผู้คนในหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการดนตรี กีฬา หรือธุรกิจ ซึ่งเราอาจพบว่ากลุ่มผู้ประสบความสำเร็จเหล่านี้ล้วนน่าจะต้องมีพรสวรรค์เป็นพื้นฐาน แต่หากมองให้ลึกกว่านั้น เราจะพบว่าการฝึกฝนอย่างจดจ่อ เจาะลึก และมีแบบแผนต่างหากที่ช่วยทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จและคงสถานภาพความเป็นเลิศในอาชีพการงาน : นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้มีการนำเสนอวิธีการนำเนื้อหาของการฝึกฝนและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศนี้ไปปรับประยุกต์ใช้ในระดับองค์กรเพื่อสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นการทำงานเป็นทีม : เนื้อหาแบ่งออกเป็นทั้งหมด 11 บท ได้แก่ บทที่ 1 ต้นตอแท้จริงของความสำเร็จ บทที่ 2 เรายกย่องพรสวรรค์มากเกินไปหรือเปล่า บทที่ 3 ต้องฉลาดแค่ไหนถึงจะพอ บทที่ 4 มุมมองที่ดีกว่า บทที่ 5 ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการฝึกฝนอย่างจดจ่อ บทที่ 6 เจาะลึกการฝึกฝนอย่างจดจ่อ บทที่ 7 นำหลักการมาปรับใช้กับชีวิต บทที่ 8 นำหลักการมาปรับใช้กับองค์กร บทที่ 9 ใช้หลักการนี้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ บทที่ 10 การพัฒนาตัวเองกับอายุ บทที่ 11 ความหลงใหลมาจากไหน : การหยิบยกเรื่องราวของผู้คนมาเป็นกรณีศึกษามีข้อดีคือช่วยขับเน้นวิธีเล่าเรื่องให้เห็นเป็นภาพและเปิดโอกาสให้ผู้อ่านสร้างมุมมองของตัวเองจากข้อมูลที่ได้รับนอกไปจากหลักการที่หนังสือวิเคราะห์มาให้ อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าข้อเสียเปรียบของมันคือปัจจัยแวดล้อมของผู้ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอาจทำให้เราในฐานะคนอ่านรู้สึกไกลตัวบ้างหากไม่ค้นพบจุดร่วมระหว่างตัวเองกับข้อมูลที่ได้รับ
นิยามความสำเร็จของคุณเป็นแบบไหน?
เราทุกคนอาจมีนิยามการประสบความสำเร็จที่ต่างกันไปซึ่งรูปแบบของมันย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาหยิบยกหรือเปรียบเทียบกันได้ เมื่อทุกคนมีพื้นฐานการใช้ชีวิตและความคิดที่ไม่เหมือนกัน การชี้นำภาพของความสำเร็จที่มีอยู่เพียงรูปแบบเดียวจึงอาจกลายเป็นความล้มเหลวของบางสิ่งบางอย่าง เพราะในสังคมเราต้องการความหลากหลาย คล้ายธรรมชาติที่ก็ต้องอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพในการดำรงอยู่
หนังสือเล่มนี้แม้เนื้อหาจะมีการหยิบยกกรณีศึกษาของผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จเพื่อนำมาบอกเล่าเทียบเคียงให้เห็นภาพ แต่จุดประสงค์หลักของหนังสือ ผู้เขียนได้อธิบายถึงเรื่องราวของการฝึกฝนตนเองในรูปแบบที่ต่างออกไป พร้อมทั้งเจาะลึกถึงหลักการดังกล่าวเพื่อสร้างความเข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุผลเบื้องหลังที่เราต้องทำเช่นนั้น สำหรับเรามันจึงเป็นหนังสือที่น่าลองหยิบยกความรู้และคำแนะนำที่ได้มาลองปรับใช้กับภาพความสำเร็จในแบบของตัวเอง
จง ‘ฝึกฝนอย่างจดจ่อ’ ไม่ใช่แค่ฝึกฝน
อันเดอร์ส อีริคส์สัน และกลุ่มเพื่อนนักวิจัย ได้แนะนำถึงหลักการของการฝึกฝนอย่างจดจ่อที่สร้างความเฉพาะเจาะจงและช่วยให้เราจินตนาการภาพความสำเร็จได้ชัดเจนขึ้น โดยการฝึกฝนที่ว่านี้จะต้องผ่านการออกแบบโดยวิเคราะห์ว่าทักษะด้านใดที่เราต้องการขัดเกลาเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้น การลงมือทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ จึงไม่เข้าข่ายการฝึกฝนอย่างจดจ่อ ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกองค์ประกอบที่จะฝึกฝนก็ถือเป็นทักษะที่สำคัญ โดยโนเอล ทิชี่ ศาสตราจารย์สาขาธุรกิจประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้อธิบายถึงประเด็นดังกล่าวว่าเราควรเลือกกิจกรรมที่ยากพอสมควร ซึ่งอยู่ใน ‘เขตแดนแห่งการเรียนรู้’ มาฝึกฝน เนื่องจากใน ‘เขตแดนแห่งความสบายใจ’ นั้นไม่มีวันทำให้เราก้าวหน้า และ ‘เขตแดนอันน่าหวาดหวั่น’ ก็อาจยากเกินกว่าจะเริ่มต้นจนทำให้เราท้อถอยได้
อย่าเข้าใจผิดว่าการทำไปอย่างอัตโนมัติ คือความสำเร็จแบบมืออาชีพ
หลายครั้งที่เรามองเห็นผู้คนทำงานบางอย่างโดยไม่ต้องใช้สมาธิโฟกัสกับงานแล้วรู้สึกประทับใจ แต่รู้หรือไม่ว่านี่กลายเป็นข้อยกเว้นของผู้ที่ต้องการฝึกฝนตนเองเพื่อบรรลุสู่ความเป็นเลิศ หากต้องการให้เกิดการพัฒนาและฝึกฝนอย่างจดจ่อเราต้องหลีกเลี่ยงการลงมือทำโดยอัตโนมัติทั้งปวง เพราะมันอาจหมายถึงกิจกรรมนั้นได้ย้ายพื้นที่ออกจากเขตแดนแห่งการเรียนรู้ไปอยู่เขตแดนแห่งความสบายใจแล้ว และการฝึกฝนที่ไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ เลยก็ไม่อาจนำเราไปสู่การพัฒนาใด ๆ เลยด้วยเช่นกัน
Feedback ก็สำคัญ ใช้เวลาเท่าไรในการฝึกฝนนั้นยิ่งสำคัญกว่า
สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการฝึกฝนเพื่อให้เกิดการพัฒนานั่นคือ Feedback เราอาจใช้วิธีการประเมินผลการฝึกฝนด้วยตนเองโดยใช้รูปแบบการวัดผลที่มีประสิทธิภาพและสามารถวัดความก้าวหน้าได้ แต่ Feedback ที่ดีที่สุดน่าจะมาจากมุมมองของบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นครู พี่เลี้ยง หรือผู้ติดตามที่อยู่ในองค์ประกอบความสำเร็จของคุณที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
และอีกประเด็นหนึ่งที่หนังสือได้กล่าวไว้ หลายคนอาจเพียรพยายามฝึกฝนอย่างจดจ่อตลอดทั้งวันทุกวันและสุดท้ายก็พบว่าความเหนื่อยล้าทำให้คุณเกิดความคิดที่จะล้มเลิก โชคดีที่การค้นพบหนึ่งซึ่งทำการทดลองกับในหลาย ๆ สาขาอาชีพพบว่า การฝึกฝนที่จดจ่อและสร้างประสิทธิภาพได้มากที่สุดคือวันละ 4 หรือ 5 ชั่วโมงเท่านั้น และไม่ใช่การทำต่อเนื่องกัน ต้องแบ่งออกเป็นช่วง ๆ โดยใช้เวลาไม่เกิน 60 – 90 นาที
ความเพลิดเพลินหลงใหล คือองค์ประกอบหนึ่งในการไปให้ถึงการฝึกฝนอย่างจดจ่อ
แล้วอะไรจะทำให้การฝึกฝนน่าอภิรมย์ได้มากไปกว่าการรู้สึกเพลิดเพลินไปกับมันเล่า แม้อีริคส์สันจะกล่าวเอาไว้ว่าการฝึกฝนอย่างจดจ่อนั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่สนุก” เอาเสียเลย หากแต่การจะเข้าถึงประสบการณ์อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันจะต้องอาศัยแรงจูงใจอะไรสักอย่างให้เราสามารถยึดอยู่กับมันเอาไว้ มิฮาลี ชิกเซนมิฮาย นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้นำเสนอกลไกลหนึ่งที่เชื่อมโยงแรงจูงใจภายในเข้ากับการฝึกฝนอย่างจดจ่อ โดยเรียกสภาวะที่คนเรากำลังดำดิ่งไปกับการทำอะไรสักอย่างจนไม่รู้สึกถึงเวลา ว่า “สภาวะลื่นไหล” ซึ่งการที่เราจะเข้าถึงสภาวะลื่นไหลได้นั้น เราจำเป็นจะต้องอยู่กับกิจกรรมที่มีความท้าทายพอประมาณ สอดคล้องกับทักษะที่เรามี ซึ่งก็ดูเหมือนว่าทั้งทิชี่และชิกเซนมิฮายจะมองเห็นบางอย่างคล้ายคลึงกัน
แก่เกินกว่าจะพัฒนาแล้วหรือยัง?
เราอาจมีคำถามเกิดขึ้นมาทำนองนี้ หรือกระทั่งมองเห็นจากความเป็นจริงที่มีว่าบรรดาคนสูงวัยไม่อาจมีพลังหรือความคิดความจำได้ดีเท่าเก่า ซึ่งแน่นอนว่าการฝึกฝนอย่างจดจ่อเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศยิ่งเริ่มต้นเร็วก็ยิ่งมีโอกาสได้เปรียบสูงกว่า แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามกรณีตัวอย่าง เช่น เจมี ไดมอน นักการเงินที่ประสบความสำเร็จและกลายมาเป็นซีอีโอของเจพีมอร์แกน เชส เมื่อวัย 50 หรือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ยังคงบริหาร Berkshire Hathaway ได้ และยังมีบุคคลมีชื่อเสียงอีกมากมายที่ยังได้รับการชื่นชมแม้อายุอานามจะผ่านวัยกลางคนมาแล้วหลายปี
อะไรที่ทำให้พวกเขายังคงความเป็นเลิศเอาไว้ได้ เคล็ดลับสำคัญยังคงอยู่ที่วิธีการฝึกฝนอย่างจดจ่อ พวกเขาเหล่านั้นยังคงฝึกฝนจดจ่ออย่างต่อเนื่อง และอาจยังค้นหากลวิธีที่จะชดเชยความสามารถที่ถดถอยของตนด้วยการวิเคราะห์รูปแบบทักษะที่จะนำมาพัฒนาอีกด้วย จากการทำความเข้าใจที่ผ่านมาเราจะพอเห็นภาพว่าวิธีการฝึกฝนอย่างจดจ่อนั้นไม่ใช่แค่การฝึกฝนทั่วไป นี่อาจเป็นความแตกต่างที่ทำให้เราพอจะแยกแยะได้ว่าเหตุใดคนสูงวัยบางคนจึงประสบความเสื่อมถอยแทนที่จะคงความสำเร็จเอาไว้ นั่นอาจเป็นเพราะพวกเขาเลิกฝึกฝนอย่างจดจ่อไปแล้ว (แต่บางคราวมันก็สมเหตุสมผลสำหรับการวางมือเมื่อพวกเขาเข้าใจในข้อจำกัดบางประการของตนเอง เรากลับมองว่าการรู้จักตัวเองอาจเป็นภาพความสำเร็จใหม่ ๆ ที่พวกเขาสามารถสร้างให้กับตัวเองได้เช่นเดียวกัน)
ฉะนั้น นี่อาจเป็นอีกความท้าทายหนึ่งในการพัฒนาตนเองเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จโดยที่ยังสามารถรักษาระดับความเป็นเลิศในทักษะที่มีเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม เรายังคงเชื่อว่าใจความสำคัญของทางเลือกที่จะไปสู่ความสำเร็จอาจจะต้องย้อนกลับมาตอบตัวเองอีกครั้งว่าคุณต้องการอะไรจากการประสบความสำเร็จของตนเองที่จะเกิดขึ้น การมองเห็นภาพเป้าหมายที่ชัดเจนและค้นพบความสำคัญของมันจะทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะออกเดินทางไกลได้โดยไม่ย่อท้อ
และไม่แน่ว่าระหว่างการฝึกฝนอย่างจดจ่อ คุณอาจค้นพบอะไรบางอย่างที่มีความหมายและทำให้คุณได้มีความทรงจำที่ดียามที่ได้เดินไปถึงปลายทางแล้ว
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“ชาตินี้คงไปไม่ถึงไหน ถ้าทำอะไรแค่พอผ่าน (Talent is Overrated)”
ผู้เขียน : Geoff Colvin
(สังสิทธิ์ เยาวรัตน์ แปล)
จำนวนหน้า : 248 หน้า / ราคาปก : 240 บาท
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น
หมวด : ธุรกิจ/พัฒนาตนเอง