Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ (Guy Winch)

รีวิวหนังสือ : ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ (Guy Winch)

รีวิวหนังสือ ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ

… เราอาจนิยามตัวเองด้วยอาชีพการงานแล้วตกงาน นิยามตัวเองด้วยการมีคู่แล้วสูญเสียคู่รักไป

นิยามตัวเองด้วยความสามารถด้านกีฬาของเราแล้วสูญเสียสุขภาพ

หรืออาจนิยามตัวเองด้วยการเป็นพ่อเป็นแม่แล้วเห็นลูกคนเล็กของเราออกจากบ้านไป

ในแต่ละสถานการณ์ดังกล่าวมานี้ เราจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อค้นพบตัวตนของเราอีกครั้ง

เพื่อค้นลึกเข้าไปข้างในให้เจอสิ่งที่เราพบว่ามีความหมาย

เมื่อเราไม่ทำเช่นนั้น เราจะตกอยู่กับความรู้สึกว่างเปล่าแสนสาหัส

ซ้ำเติมทำลายตัวตนพื้นฐานของเราให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ …

(Guy Winch)

✒️ ประวัติผู้เขียน Guy Winch

Guy Winch (กาย วินช์)
นักจิตวิทยา นักเขียน และนักพูด
เป็นสมาชิกสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน
และเปิดคลินิกส่วนตัวในแมนฮัตตัน
นอกจากนี้ยังพบเขาได้บนเวทีสแตนด์อัปคอเมดี้
ตามไนต์คลับในนิวยอร์กและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นครั้งคราว

🎯 มุมมองสรุป

: หนังสือมุ่งให้คำแนะนำในการรับมือกับความบาดเจ็บทางด้านอารมณ์และจิตใจของตนเองในเบื้องต้น โดยเปรียบคำแนะนำเหล่านี้เสมือนชุดปฐมพยาบาลที่จะช่วยเหลืออาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ และยังมีมุมมองวิธีปฏิบัติที่จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บเหล่านั้นลุกลามจนกลายเป็นแผลใหญ่ในอนาคต

: ผู้เขียนได้นำเสนอในแง่มุมที่ว่าบาดแผลทางใจส่วนใหญ่ที่คนเราเผชิญแต่ละครั้งอาจไม่ได้ร้ายแรงจนจำเป็นต้องพึ่งพาการรักษา หรืออาจเป็นกรณีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการบำบัดได้ทันที แต่หากปล่อยทิ้งไว้หรือเผชิญหน้าบ่อยครั้งอย่างผิดวิธีก็อาจทำให้ลุกลามจนกลายเป็นแผลใจขนาดใหญ่ได้ รายละเอียดของหนังสือจึงเป็นลักษณะรวมบทสรุปของความบาดเจ็บทางอารมณ์และจิตใจที่มักสร้างปัญหา พร้อมขั้นตอนวิธีเยียวยา ผลลัพธ์ที่คาดไว้ ไปจนถึงคำแนะนำและจุดสังเกตว่าเมื่อใดที่ควรเข้าพบแพทย์อย่างจริงจัง

: เนื้อหาแบ่งออกเป็น 7 บทตามลักษณะบาดแผลทางอารมณ์และจิตใจพร้อมบทสรุปส่งท้าย ได้แก่
บทที่ 1 การถูกปฏิเสธ : รอยบาดและรอยถลอกทางอารมณ์ของชีวิตประจำวัน
บทที่ 2 ความเหงา : กล้ามเนื้อความสัมพันธ์อ่อนแรง
บทที่ 3 การสูญเสียและเหตุการณ์สะเทือนใจ : เดินด้วยกระดูกที่หัก
บทที่ 4 ความรู้สึกผิด : พิษในร่างกายของเรา
บทที่ 5 การครุ่นคิด : แกะสะเก็ดแผลทางอารมณ์
บทที่ 6 ความล้มเหลว : หลอดลมอักเสบเฉียบพลันทางอารมณ์กลายเป็นโรคปอดบวมทางจิตใจได้อย่างไร
บทที่ 7 ความเคารพตัวเองต่ำ : ระบบภูมิคุ้มกันทางอารมณ์อ่อนแอ
บทสรุป : สร้างตู้ยารักษาความเจ็บป่วยทางใจส่วนตัวของคุณเอง

: เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาสภาวะอารมณ์อ่อนไหวของตนเอง หรือผู้ที่ต้องการเรียนรู้แนวคิดวิธีป้องกันตัวเองจากบาดแผลทางอารมณ์ข้างต้นก่อนที่จะลุกลามเป็นแผลใหญ่ ไปจนถึงผู้ที่ประสบกับความเจ็บปวดทางอารมณ์ในรูปแบบต่าง ๆ และกำลังมองหาวิธีเยียวยารักษาด้วยตนเองให้ได้ในเบื้องต้น

: ส่วนตัวเราชอบวิธีการนำเสนอของผู้เขียนภายในเล่มที่แยกประเภทความบาดเจ็บทางอารมณ์ไว้ได้อย่างชัดเจน และใช้การเทียบเคียงกับความป่วยไข้ที่เรามักสังเกตเห็นได้ง่ายกว่าหรือยินยอมจะไปรักษากับหมอง่ายกว่า พร้อมกับวิธีรักษาเยียวยาสภาพจิตใจจากบาดแผลทางอารมณ์ดังกล่าว ทั้งจากแบบฝึกหัดและกรณีตัวอย่างของผู้ที่เคยเข้ารับคำปรึกษากับเขา โดยความแตกต่างจากหนังสือจิตวิทยาพัฒนาตนเองเล่มอื่น ๆ ที่เราเคยได้อ่านมาคือ เขามีคำแนะนำสำหรับ Trigger ไว้ล่วงหน้า และยังส่งท้ายแต่ละบทด้วยจุดสังเกตที่ว่าแผนฟื้นฟูที่เขานำเสนอมาอาจไม่ได้ผลแล้ว และคุณจำเป็นต้องพบหมอทันที

: การเรียบเรียงข้อมูลภายในเล่มเป็นไปอย่างกลมกล่อม อ่านแล้วไม่สะดุดทั้งที่เป็นหนังสือที่อาศัยผลวิจัยจำนวนมาก โดยผู้เขียนได้แยกในส่วนของการอ้างอิงวิจัยไว้ในท้ายเล่มสำหรับคนที่ต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งสำหรับเรามองว่าสะดวกและช่วยให้คนอ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมตามความสนใจได้อย่างง่ายดายในภายหลัง
รีวิวหนังสือ Emotional First Aid Being

หนังสือที่ช่วยเยียวยาจิตใจ

บาดแผลทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการถูกทำร้ายซ้ำไปซ้ำมาทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัวนับเป็นความน่ากลัวของความป่วยไข้ทางจิตใจในยุคสมัยปัจจุบันอย่างยิ่ง เพราะร่องรอยความทารุณที่ว่านั้นบ่อยครั้งมันไม่ปรากฏให้เห็น – ไม่แม้แต่จะให้เจ้าตัวได้เห็น และเราคิดว่าน่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกถึงวิกฤติจริง ๆ ก็ตอนไปถึงจุดที่ต้องอาศัยความพยายามมากกว่าปกติเป็นสองเท่าเพื่อฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ

การแสดงภาพอันชัดเจนของความเจ็บปวดที่สามารถสร้างบาดแผลทางอารมณ์ทำให้เรารู้สึกถึงการจับต้องได้พร้อมเฝ้าสังเกต ทบทวน และลองตรวจสอบสถานการณ์ของตัวเองได้เป็นอย่างดี กรอบความคิดของการเผยแพร่หนังสือที่มุ่งเป็นชุดปฐมพยาบาลให้กับบุคคลทั่วไปได้เป็นสิ่งที่เราเองก็มองหามาตลอด ส่วนตัวเรามองว่าผู้เขียนมีความรอบคอบอย่างยิ่งที่จะนำเสนอข้อมูลจิตวิทยาทั้งหลายโดยไม่ให้มองว่าเป็นคู่มือที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่างโดยสมบูรณ์ เพราะไม่ว่าตู้ยาสามัญประจำบ้านหรือกล่องพยาบาลก็ไม่อาจล้มล้างความจำเป็นที่จะต้องไปหาหมอหรือไปโรงพยาบาลได้เมื่อบาดแผลของคุณเป็นร่องรอยขนาดใหญ่และมีโอกาสติดเชื้อลุกลาม

แค่เรื่องเล็กน้อย แต่บ่อยเท่านั้นเอง

เมื่อได้ลองเปิดอ่าน จึงรู้สึกราวกับมีคู่มือเบื้องต้นไว้สำหรับประเมินผลและทบทวนสภาวะจิตใจได้อย่างคร่าว ๆ บางทีเราเองก็คงไม่รู้ตัวหรอกว่าความบาดเจ็บทางอารมณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เมื่อถูกกักเก็บสะสมไว้มันอาจบานปลายใหญ่โต อย่างเช่น การถูกปฏิเสธซ้ำ ๆ เมื่อบ่อยครั้งเข้าเราจะเกลี้ยกล่อมให้ตัวเองปล่อยวางความรู้สึกเจ็บปวดเหล่านั้นได้น้อยลง และมีโอกาสจะโทษตัวเองอย่างเหมารวมมากขึ้น แม้ในความเป็นจริงการถูกปฏิเสธอาจไม่ใช่เพราะคุณเท่านั้น มีหลายปัจจัยทั้งสภาพแวดล้อมและผู้คนซึ่งมีเหตุผลส่วนตัว วิธีการเยียวยาฟื้นฟูวิธีหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การกินอาหารว่างทางสังคม” เป็นเรื่องที่เราชอบมาก มันสามารถช่วยบรรเทาความหิวโหยเมื่อเราถูกปฏิเสธหรือรู้สึกโดดเดี่ยวจากกลุ่มได้ด้วยการนึกถึงความอบอุ่น ความสัมพันธ์ที่ดี หรือแม้แต่การมองภาพถ่ายของผู้เป็นที่รัก นักวิจัยพบว่าเพียงเท่านี้ก็สามารถลดความเจ็บปวด ก้าวร้าว ของผู้ที่ถูกปฏิเสธลงได้

รีวิวหนังสือ ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ

จุดเชื่อมโยงของความเหงา ความเคารพตัวเองต่ำ และความคิดมาก

ทีนี้ลองมาดูประเด็นที่เราคิดว่ามันมีความเชื่อมโยงกันอยู่แบบบาง ๆ อย่างเรื่องความเหงา ความเคารพตัวเองต่ำ และการครุ่นคิด สามสิ่งนี้เหมือนวังวนกลุ่มก้อนที่จะทำให้เราจมลงไปในหล่มของบาดแผลทางอารมณ์ได้มากในคราวเดียว คนที่อยู่กับความเหงามาเป็นเวลาช้านานมีโอกาสที่พฤติกรรมของตนจะผลักไสคนอื่นไปอย่างไม่รู้ตัว เมื่อเรารู้สึกขาดการเชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัวก็คล้ายกับมัดกล้ามเนื้อความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ถูกใช้งานนานวันเข้าก็เกิดการอ่อนแรง ส่งผลให้มุมมองของเราเป็นไปในเชิงลบมากกว่าความเป็นจริง ซึ่งสิ่งนี้เองที่เราคิดว่าเป็นแกนหลักของการบาดเจ็บทางอารมณ์ทั้งหลาย ‘การมองโลกที่ผิดไปจากที่มันเป็น’ เฉกเช่นเดียวกันกับผู้ที่มีความเคารพตัวเองต่ำที่มักตีความผลกระทบต่าง ๆ แย่กว่าที่ควรจนกลายเป็นความเครียด และความเครียดก็ยิ่งกดให้พวกเขาด้อยค่าตัวเองและจมลงไปในความคิดความรู้สึกด้านลบกระทั่งบั่นทอนความสามารถในการแก้ไขปัญหาและการจัดการชีวิต กระทบต่อเนื่องกันเป็นทอด ๆ

ภายในหนังสือได้แนะนำถึงขั้นตอนรักษาตั้งแต่กระบวนวิธีคิดโดยเริ่มด้วยการลงมือทำจากสิ่งเล็ก ๆ อย่างการหยุดกล่าวโทษตัวเอง ถอดแว่นตาที่ย้อมสีเนกาทีฟของตนเองออก เพื่อปรับมุมมองของคุณให้ใกล้เคียงกับโลกของความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้อีกรูปแบบการทำงานพื้นฐานที่เราคิดว่าใครหลายคนก็น่าจะเคยได้ยินมาบ้าง นั่นคือการเห็นอกเห็นใจตนเอง บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำร้ายตัวเราเองได้รุนแรงที่สุดก็คือคำพูดและความคิดที่อยู่ในหัว

รีวิวหนังสือ ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ กาย วินช์

ความแตกต่างจากหนังสือที่เคยอ่านมา

จุดเด่นของหนังสือที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษ นอกจากขั้นตอนการฟื้นฟูเยียวยาบาดแผล แบบฝึกหัด หรือกรณีตัวอย่างที่ดูหยิบใช้ได้จริงแล้ว แต่ละบทของการฟื้นฟูยังบอก ‘ขนาดการใช้’ และ ‘ใช้ได้ผลสำหรับ’ พฤติกรรมใด คล้ายกับฉลากที่ติดไว้ข้างขวดยา ในส่วนของบทที่ว่าด้วยเรื่องของการสูญเสียและเหตุการณ์สะเทือนใจซึ่งนับเป็นความอ่อนไหวเฉพาะบุคคล ผู้เขียนก็ได้มีวิธีเรียบเรียงได้อย่างเข้าอกเข้าใจอย่างยิ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้สร้างผลกระทบไม่น้อยให้กับมุมมองที่ผู้ประสบจะมีต่อตัวเอง สั่นคลอนความเชื่อหรือความคิดที่มีมาแต่เดิม หรือบางความรู้สึกผิดที่ติดตัวมาตลอดอาจกลายไปเป็นความรู้สึกทรยศต่อผู้ที่สูญเสียไปแล้วสำหรับในบางคนได้ การเสนอมุมมองของการเยียวยาภายในเล่มเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ เป็นการขยายวิสัยทัศน์ของผู้ตกอยู่ในเหตุการณ์ในแบบที่ปลดปล่อย ผ่อนคลายความกังวล และไม่รู้สึกถึงการกดข่มความเจ็บปวดเอาไว้ เสมือนคุณนั่งอยู่ภายในห้องที่เมื่อเหลือบมองผ่านหน้าต่างก็จะเห็นทิวทัศน์เพียงแค่โดยรอบ ตราบที่คุณก้าวเท้าออกมายังพื้นที่โล่งกว้าง คุณจะมองเห็นท้องฟ้าเหนือหัวและพบความสวยงามที่ไพศาลกว่าเคย

ความรอบคอบในการรวบรวมแบบฝึกหัดสำหรับการฟื้นฟูของหนังสือเล่มนี้ คือผู้เขียนได้ทำการชี้จุด Trigger เอาไว้สำหรับความสูญเสียที่ใหญ่เกินกว่าจะใช้ชุดปฐมพยาบาลได้ ส่วนตัวเราเองก็อ่านข้ามไปบ้างบางช่วงตอนและเลือกเก็บรายละเอียดอื่น ๆ ชดเชย ฉะนั้นโดยสรุปแล้วหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นชุดปฐมพยาบาลทางใจชั่วคราว แต่มันยังเหมาะสำหรับการเป็นตู้ยาอารมณ์ประจำบ้านอย่างแท้จริงอีกด้วย

เพราะอาการป่วยที่ทิ้งไว้เนิ่นนาน เราไม่รู้ว่ามันอาจกลายเป็นการบาดเจ็บเรื้อรังที่พังทลายเราทั้งชีวิตหรือสร้างผลกระทบไปยังบุคคลใกล้ชิดได้มากเพียงใด

รีวิวหนังสือ ฟื้นฟู เยียวยา สภาพจิตใจ

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

“ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ (Emotional First Aid)”

ผู้เขียน : Guy Winch
(ลลิตา ผลผลา แปล)

จำนวนหน้า : 408 หน้า / ราคาปก : 329 บาท

สำนักพิมพ์ : Be(ing)

หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง

จักรวาลของความเจ็บ รีวิว หนังสือ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกถึงความเจ็บตามร่างกายอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะด้วยอายุที่มากขึ้น หรือกิจวัตรประจำวันที่ไม่ทันสังเกต กระทั่งความเจ็บได้กลายมาเป็นความกังวลใจ เราอยากชวนคุณเรียนรู้กลไกความเจ็บทั้งหลาย เพื่อว่าเราอาจฟื้นฟูหรือย้อนรอยเรียนรู้มันได้ ก่อนที่จำเป็นจะต้องไปรักษาจริงๆ
ก.ค. 22, 2024
รีวิวหนังสือ การตั้งคำถามที่ดีและไม่ดี
การตั้งคำถามนับเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้เราค้นพบคำตอบที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้ ร่วมเรียนรู้วิธีการตั้งคำถามที่ดีไปกับ เคน โมงิ นักประสาทวิทยา เจ้าของงานเขียนหนังสือปรัชญาญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง 'อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่' และ 'นาโงมิ สุข สงบ สมดุล'
เม.ย. 16, 2023
เราจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร how to live a good life รีวิว
จะเป็นอย่างไรหากเราจินตนาการถึงภาพชีวิตที่ดีที่เราจะมีได้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม – หนังสือที่ชวนคุณออกเดินทางเพื่อค้นพบชีวิตที่ดี จากผู้คนที่หลากหลาย ผ่านปรัชญาลึกซึ้ง ณ สถานที่ใดที่หนึ่งของโลก
ต.ค. 21, 2023
รีวิว ความสุขจากการอยู่กับตัวเอง
รูปแบบวิถีชีวิตที่เริ่มมีให้เห็นอย่างแพร่หลายทั่วทุกมุมโลกทว่าต่างชื่อเรียก ภายใต้หลักความคิดและทัศนคติการใช้ชีวิตโดยยึดความสันโดษว่าเป็นความสุขของการดำรงตนอย่างจริงแท้
ก.ค. 18, 2021