Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : ชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ (Steve Alpert)

รีวิวหนังสือ : ชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ (Steve Alpert)

หนังสือ ประวัติ การ์ตูน สตูดิโอ จิบลิ รีวิว

“ไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

เราก็พยายามรับมือกับมันด้วยความเป็นกลาง

เราแค่มีความสุขที่หนังของเราได้รับคำชื่นชม

และตั้งตารอที่จะได้สร้างหนังเรื่องถัดไป”

– จากหนังสือชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ โดย สตีฟ อัลเพิร์ต

✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน

Steve Alpert (สตีฟ อัลเพิร์ต)
เคยศึกษาปริญญาโทด้านวรรณกรรมญี่ปุ่นก่อนจะเปลี่ยนไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ
พูดภาษาญี่ปุ่นและจีนได้คล่อง เขาเคยอาศัยอยู่ในโตเกียว เกียวโต และไทเปเป็นเวลารวมกันกว่า 35 ปี
นับตั้งแต่ปี 1996 เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของสตูดิโอจิบลิ
และอยู่ต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลา 15 ปี
ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในเมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา

🎯 มุมมองสรุป

: หนังสือจะเป็นการเล่าเรื่องราวสตูดิโอจิบลิทั้งในแง่การผลิตและวิธีคิดวิธีทำงานของผู้บริหารผ่านมุมมองของผู้เขียนซึ่งเป็นชาวต่างชาติ (ไกจิน) เพียงคนเดียวของบริษัทท่ามกลางวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นที่แม้จะยังมีความอนุรักษนิยมค่อนข้างสูงทว่ากลับถ่ายทอดออกมาได้อย่างสนุกสนาน และยังมีข้อมูลกระบวนการทำงานภายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชันและงานประกาศผลรางวัลภาพยนตร์ทั้งออสการ์และหมีทองคำในยุคนั้นให้เราได้เก็บเกี่ยวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยตามไปอย่างน่าสนใจ

: เนื้อหาแบ่งออกเป็น 12 บทซึ่งเรียบเรียงจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่ที่ สตีฟ อัลเพิร์ต ผู้เขียนได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโทคุมะ กรุ๊ป (บริษัทแม่ของสตูดิโอจิบลิในขณะนั้น) โดยยกมาเล่าตั้งแต่วัฒนธรรมการเข้ารับตำแหน่งใหญ่ในบริษัทตามแบบฉบับคนญี่ปุ่นที่จะมีผู้ร่วมแสดงความยินดีแวะเวียนมาไม่ขาด ก่อนที่จะเปิดเผยวิธีการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิขึ้นมาสักเรื่อง รูปแบบการทำงานของผู้บริหารแต่ละคน ไปจนถึงประสบการณ์ที่เขาพบระหว่างการประสานงานกับ วอลต์ ดิสนีย์ คู่ค้าสำคัญของสตูดิโอจิบลิรวมถึงการทำงานในต่างแดนอันแสนอลหม่าน และทิ้งท้ายหนังสือด้วยการจากไปของ ยาสุโยชิ โทคุมะ หัวเรือใหญ่ของโทคุมะกรุ๊ป

: สำหรับเราที่ชื่นชอบแอนิเมชันจากสตูดิโอจิบลิหลายเรื่องนั้น ต้องบอกว่าอ่านแล้วรู้สึกอิ่มเอมโดยเฉพาะกระบวนการผลิตของสตูดิโอจิบลิ การทำงานที่ต้องสอดประสานกันอย่างทุ่มเทของผู้เกี่ยวข้อง กระทั่งบรรยากาศของสถานการณ์ที่ชวนให้ลุ้นและเอาใจช่วยตามไปด้วย อีกทั้งเมื่อฟังมุมมองการทำงานที่มีลักษณะเฉพาะตัวของสตูดิโอจิบลิในตอนนั้น เราไม่อาจกล่าวได้ว่าพลังความคิดสร้างสรรค์จะได้มาจากอิสระและโลกที่เปิดกว้างได้เพียงอย่างเดียว บางครั้งมันก็อาศัยแรงกดดันและการรีดเค้นศักยภาพท่ามกลางข้อจำกัด ผลที่ออกมาจึงส่องประกายเฉิดฉายเสรี

: การเล่าเรื่องที่ดูเหมือนชุลมุนวุ่นวายและความเคร่งเครียดที่เกิดขึ้นให้ออกมาเป็นเรื่องราวที่สนุกขบขันเป็นความบันเทิงของหนังสือเล่มนี้อย่างแท้จริง มันทำให้เรารู้สึกว่านี่คือความยืดหยุ่นของ สตีฟ อัลเพิร์ต และการมองโลกในแง่ดีแบบที่คล้ายคลึงกันกับวิถีการสร้างภาพยนตร์การ์ตูน มันทำให้เขาสามารถประสานงานทุกอย่างจนทำให้จิบลิได้ออกสู่สายตาของคนทั่วโลกอย่างถูกต้องและเป็นธรรมกับผู้สร้างสรรค์ ฉะนั้นนอกจากเรื่องราวที่เกี่ยวกับจิบลิแล้ว วิธีสังเกตแล้วถ่ายทอดออกมาของผู้เขียนเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจในเชิงธุรกิจไม่น้อย และยังทำให้เราได้รู้เรื่องราวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชันอีกด้วย
ชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ รีวิว

ความน่าสนใจของจิบลิ

เมื่อเรานึกถึงการ์ตูนแอนิเมชัน บ่อยครั้งมักพบว่าความคิดของเราเชื่อมโยงกับสื่อบันเทิงที่มีกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นเด็ก แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ชัดว่าหลากหลายเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านภาพที่เต็มไปด้วยสีสันหรือเส้นเรื่องบนโลกจินตนาการกลับเชื่อมโยงกับการตีความตามความเข้าใจของผู้ใหญ่ได้ลึกซึ้งอย่างคาดไม่ถึง

สตูดิโอจิบลิเป็นอีกแหล่งภาพยนตร์แอนิเมชันที่ว่านั้น ด้วยรูปแบบการสร้างสรรค์ที่ปราณีตและความใส่ใจจากกลุ่มคนที่มุ่งมั่นและหลงใหลในสิ่งเดียวกัน จึงทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชันอย่างเจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร (Princess Mononoke หรือ Mononoke Hime) ทำสถิติใหม่ของบ็อกซ์ออฟฟิศญี่ปุ่นด้วยยอดขายตั๋ว 19,000 ล้านเยน (160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงปีที่เข้าฉาย 1997 ก่อนที่สถิติประเภทภาพยนตร์ที่สร้างโดยคนญี่ปุ่นจะไม่มีใครโค่นได้ลงจนกระทั่งปี 2001 ที่มิติวิญญาณมหัศจรรย์ (Spirited Away) จะมาทำลาย ซึ่งก็ยังคงเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันจากบ้านจิบลิอยู่นั่นเอง

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารที่ตรึงใจผู้ชมผ่านตัวการ์ตูนในความคิดของ ฮายาโอะ มิยาซากิ มีรูปแบบที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์อย่างประหลาด สตีฟ อัลเพิร์ต ผู้บริหารชาวต่างชาติเพียงคนเดียวซึ่งได้รับการว่าจ้างเพื่อขยายตลาดของภาพยนตร์แอนิเมชันจิบลิสู่ระดับสากล ได้ถ่ายทอดวิธีการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันในแบบฉบับของสตูดิโอจิบลิอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนเรารับรู้ได้ถึงความละเอียดลออที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำงานประเภทนี้ได้ และแม้ว่าวัฒนธรรมการทำงานแบบอนุรักษนิยมของญี่ปุ่นจะทำให้ผู้เขียนต้องปรับตัวมากเพียงใด ความสนุกสนานเล็กๆ ภายในตัวเขาก็ยังถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องที่เล่าออกมาได้อย่างหรรษาน่าติดตาม

รีวิว หนังสือ การ์ตูนจิบลิ

เรื่องราวภายในเล่มที่ถูกถ่ายทอดผ่านไกจิน

การเริ่มต้นไม่เคยเป็นเรื่องง่าย แม้แต่กับภาพยนตร์ที่โด่งดังจนทำลายสถิติระดับประเทศมาแล้ว เพราะการนำจิบลิให้โลดแล่นกว้างขวางขึ้นนั้นหมายถึงการต้องทำงานร่วมกับผู้คนที่มากขึ้นด้วย ผู้เขียนจึงเปรียบเสมือนคนกลางที่ต้องรับรู้ความเป็นจริงของตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์และในขณะเดียวกันก็ต้องประสานระหว่างความต้องการของสตูดิโอจิบลิ (โดยเฉพาะผู้บริหาร) กับคู่ค้าอย่าง วอลต์ ดิสนีย์ ให้ลงตัวให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่า วอลต์ ดิสนีย์ เองก็มีรูปแบบการทำงานเฉพาะและเปรียบตนเองประหนึ่งตัวแทนความเชื่อของคนอเมริกัน เรื่องราวการฟาดฟันและทุ่มเทจากมุมมองของ สตีฟ อัลเพิร์ต จึงดูน่าปวดหัวและกดดันไม่น้อย ทว่าเขากลับสามารถบรรยายได้อย่างออกรส และสอดแทรกมุกตลกจนเราเกือบคิดว่ามันคือหนังสือหมวดบันเทิงมากกว่าจะเป็นอัตชีวประวัติไปแล้ว (ตอนเล่าช่วงรับรางวัลหมีทองคำคือโคตรวุ่นวาย / จริงๆ ก็วุ่นวายเกือบทั้งเล่ม ฮ่าๆ)

อย่างไรก็ตาม หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของชายผู้ไม่มีวันสิ้นสุดคนนี้ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดที่มาที่ไปของจิบลิเท่านั้น มันยังถูกสอดแทรกแง่มุมการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชันและการนำเสนอบทเรียนการทำงานสร้างสรรค์ไว้ได้อย่างกลมกลืน ในความคิดส่วนตัว วัฒนธรรมการทำงานของชาวญี่ปุ่นและอเมริกาล้วนมีส่วนที่เราทั้งชอบและไม่ชอบคละเคล้ากันไป เราอาจชื่นชอบความอิสระ ความเป็นปัจเจก และสิทธิส่วนบุคคลในแบบฉบับอเมริกันชนในบางขณะ แต่บางคราวความถ่อมตน เอาจริงเอาจัง และการทำธุรกิจที่เน้นความสัมพันธ์ก็ดูเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานและความร่วมมือร่วมใจในผู้คนจำนวนมาก บางครั้งผู้เขียนก็ซ่อนกุญแจของวิธีการที่ได้มาซึ่งผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจเอาไว้และปล่อยให้เราคาดเดาเอาเอง หรือไม่นี่ก็อาจเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของคนทำงานสร้างสรรค์ที่มักไม่เปิดเผยปริศนาหรือเทคนิคเฉพาะตัวของวิธีการทำงานของตนเองให้ใครฟัง หรือไม่เช่นนั้น ตัวของเขาเองก็อาจไม่รู้เช่นกันว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ มันจะไม่มีวันถูกถ่ายทอดออกไปเว้นเสียแต่ว่าจะมีใครสักคนสังเกตเห็น

หรืออาจจะเป็นความช่างสังเกตนี้เอง ที่เปรียบดังกุญแจหลักสู่งานสร้างสรรค์ซึ่งสื่อสารความลับบางประการไปสู่สายตาผู้ชมและผู้อ่านทั่วโลก

ชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ รีวิว หนังสือ จิบลิ

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

ชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ
(Sharing a House with the Never-Ending Man: 15 Years at Studio Ghibli)

ผู้เขียน : Steve Alpert
(เพียงขวัญ ลักษณ์แสงวิไล แปล)

จำนวนหน้า : 528 หน้า / ราคาปก : 379 บาท

สำนักพิมพ์ : Be(ing)

หมวด : อัตชีวประวัติ

ชีวิตที่ร่างเอง นิ้วกลม รีวิว
เราจะใช้ชีวิตแบบใดก็ได้ เลือกอย่างไรก็ได้ แต่หากอยากรู้จักชีวิตที่มีความหมาย อาจต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบลมหายใจตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ ...ชวนอ่านหนังสือที่ท้าทายให้เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้ตัวตนอันจริงแท้ เพื่อใช้ชีวิตอย่างแน่วแน่ด้วยแผนที่ที่เราร่างขึ้นเอง
มิ.ย. 10, 2024
รีวิว ความจริงไม่ได้มีหนึ่งเดียว
ชวนมองโลกให้กว้างขึ้นกว่าแค่ที่เคยมี เรียนรู้ความจริงว่ามันไม่ใช่แค่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้ความแตกต่างไม่ถูกทำลาย เพื่อฝึกฝนการทำความเข้าใจ และเกลียดใครต่อใครน้อยลง
ก.พ. 12, 2022
รีวิวหนังสือ : จงมองหา “…
หงุดหงิดง่ายกับเรื่องเล็กๆ หัวเสียกับเรื่องเล็กที่สำหรับเราแล้วมันคือเรื่องใหญ่ หรือระเบิดอารมณ์รุนแรงโดยไม่ตั้งใจและยั้งไว้ไม่ทัน อาการเหล่านี้ล้วนเป็น "ช้าง" ตัวใหญ่ที่แฝงอยู่หลังกาย "ยุง" ตัวกระจิ๋ว ชวนคุณมาฝึกฝนไม่ให้เป็นคนเจ้าอารมณ์ด้วยการเข้าใจปมความต้องการพื้นฐานของตนเองผ่านเล่มนี้
ม.ค. 31, 2023
รีวิวหนังสือ The Bullet Journal Method วิถีบันทึกแบบบูโจ
หนังสือที่จะช่วยให้คุณจัดระเบียบชีวิต และค้นพบวิธีการจัดการตารางเวลาได้อย่างเป็นระบบ พร้อมปลูกฝังทัศนคติการเขียนบูโจให้ได้ผลอย่างแท้จริง
ก.ค. 28, 2021