“YOU DON’T THROW A WHOLE LIFE AWAY JUST ‘CAUSE IT’S BANGED UP A LITTLE.”
– Seabiscuit (2003)
เมื่อความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตอยู่ เราคงไม่อาจคาดหวังให้ตัวเองไม่ต้องพบเจอกับสถานการณ์เลวร้ายได้เลยตลอดเวลาที่ยังมีลมหายใจ จะว่าไปการคาดหวังเช่นนั้นอาจเป็นสาเหตุให้สภาพจิตใจยิ่งอ่อนแอลงไปมากกว่าเก่า มันอาจทำให้คุณตรอมตรม ระทมทุกข์ หรือตกสู่ห้วงแห่งความเศร้ายาวนานขึ้นกว่าเดิมยามต้องเผชิญกับปัญหา เพราะฉะนั้นจะดีกว่าไหม หากเราตระเตรียมเครื่องมือสำหรับการฟื้นฟูจิตใจ แทนที่จะคาดหวังอะไรที่ผิดไปจากความเป็นจริง
โทมาส นาวาร์โร (Tomás Navarro) นักจิตวิทยาชาวสเปน เจ้าของผลงานหนังสือ คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต (Kintsugi: Embrace your imperfections and find happiness the Japanese Way; 2017) ได้แนะนำถึงกระบวนวิธีการเยียวยาและซ่อมแซมตัวเองที่แตกสลายให้กลับคืนมา เพื่อรับรู้ถึงคุณค่าที่คุณมี – ยังคงมี และจะว่าไปมันก็ไม่เคยหายไปอย่างที่คุณอาจรู้สึกหลังจากชีวิตถล่มทลาย ด้วยคำแนะนำเหล่านี้อาจช่วยให้ชีวิตที่เคยมีบาดแผลได้รับการสมานฟื้นฟูอีกครั้ง
(1) อย่าวิ่งหนีเรื่องเลวร้าย
จงเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว แน่นอนว่าเปล่าประโยชน์ที่คุณจะเมินเฉยหรือทำเป็นไม่สนใจมัน เพราะอย่างไรมันก็จะยังคงอยู่ตรงนั้น ไม่หายไป ซ้ำร้ายยิ่งนานวันมันอาจยิ่งเรียกร้องความสนใจจากคุณอีกต่างหาก ฉะนั้นจงตัดสินใจจ้องมองมันตรง ๆ และวิเคราะห์โดยละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น พุ่งเป้าไปที่ต้นเหตุของปัญหา เพื่อรับผิดชอบและวางแผนจัดการมันได้อย่างเหมาะสม
(2) อย่าปลีกวิเวกหรือแยกตัวเองออกมา
แม้หลายครั้งเราอาจต้องการเวลาในการพินิจพิเคราะห์มันอย่างลึกซึ้ง แต่คุณต้องไม่จมกับมันเพียงลำพังจนขาดมุมมองอื่น ๆ ที่อาจจำเป็นต่อกระบวนการเยียวยาตัวเอง สำหรับบางคนแน่นอนว่าคุณอาจไม่ชอบที่จะต้องเรียกร้องขอความคิดเห็นจากคนที่ไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับคุณ เปล่า…เราไม่ได้ให้คุณทำแบบนั้น มันไม่จำเป็นจะต้องป่าวประกาศหรือสัมภาษณ์วิธีการของทุกคนรอบข้าง เพียงแค่ใครสักคนที่คุณไว้ใจ เชื่อใจ และคิดว่าการแบ่งเบาภาระทางใจนี้จะช่วยให้คุณผ่อนคลายลงได้บ้าง บ่อยครั้งขณะที่เราเล่าเรื่องให้ใครสักคนฟัง เราจะได้วิสัยทัศน์บางอย่างโผล่ออกมาระหว่างบทสนทนาโดยไม่คาดคิด
(3) อย่าสิ้นหวัง
ความหวังเป็นขุมพลังไร้รูปร่างที่แท้จริง ทางออกของมันอาจไม่ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างทันทีทันใดเพื่อให้คุณฉวยคว้า แต่ระหว่างทางของการคลี่คลายปัญหามักมาจากแสงแห่งความหวังที่ทอดไปตามทางให้เราได้เห็น ในอีกทางหนึ่ง ความหวังเป็นสิ่งที่จะช่วยผลักดันให้คุณออกแรงค้นหาวิธีการและไม่หยุดยั้งความตั้งใจที่จะฟื้นฟูชีวิตให้กลับคืนมาอีกครั้ง
(4) ยอมรับและเผชิญหน้ากับเรื่องเลวร้ายหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นี่เป็นการใส่มุมมองเชิงบวกให้กับประสบการณ์ความผิดพลาดและความผิดหวังเพื่อแปรมันให้มีความหมายใหม่ เมื่อความไม่แน่นอนคือความแน่นอนของชีวิต การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและมองให้เห็นความจริงอื่น ๆ ที่ตามมาอาจช่วยให้คุณกล้าเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อพาตัวเองไปสู่สถานการณ์ใหม่ ๆ รับมือด้วยวิธีใหม่ ๆ แทนที่จะใช้กรอบความคิดเดิม ฉะนั้นลองมองสถานการณ์เลวร้ายให้เป็นความท้าทาย เป็นสนามที่คุณจะพาตัวเองไปเรียนรู้ด้วยสรรพกำลังและกลยุทธ์ทั้งหมดที่คุณมีอยู่ หรืออาจขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการรับมือกับปัญหาหากคุณไม่เคยพบเจอมันมาก่อน นี่เป็นวิธีที่ดีกว่าการที่คุณต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอม ท้อแท้ หรือหวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยง
(5) วางเป้าหมายในระยะยาว และทุ่มเทพลังในระยะสั้น
นิยามอนาคตที่คุณอยากเห็นเอาไว้เพื่อสร้างแรงกระตุ้นจากภายใน แล้วเริ่มลงมือทำเท่าที่จะทำได้ทันที การไปต่อเพื่อฟื้นฟูเยียวยาชีวิตไม่มีใครรู้ว่าระหว่างทางจะต้องพบกับความทุกข์ซ้ำซ้อนอีกหรือไม่ แต่การไม่ทำอะไร ไม่มีเป้าหมาย ไม่เห็นภาพตัวเองที่ดีขึ้นอีกต่อไปคือความทุกข์ระทมแล้วในตอนนี้ เพราะฉะนั้นคุณจำเป็นจะต้องมีแรงบันดาลใจในการอยากเป็นอะไรที่ดีกว่าเก่า ด้วยเป้าหมายระยะไกล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องออกเดินทางทันที และทุ่มเทกำลังที่มีไปกับการขยับแม้เพียงก้าวเล็ก ๆ ด้วยการเรียนรู้สถานการณ์ ด้วยการตัดสินใจลงมือทำซ้ำ ๆ กระทั่งพบเจอกับความสำเร็จและกอบเก็บมันไว้ทีละเล็กละน้อย จะทำให้คุณเข้าใกล้เป้าหมายระยะยาวได้ง่ายกว่าการเอาแต่เฝ้าคิดอยู่เฉย ๆ
(6) วิเคราะห์เสียงภายในตัวเอง
โปรดอย่ามองข้ามการสื่อสารกับตัวเอง ลองทบทวนว่าคุณบอกกับตัวเองว่าอย่างไรบ้าง คุณมองสถานการณ์และสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแบบไหน เพราะหากคุณคอยแต่ส่งเสียงแสดงความไม่มั่นใจหรือตำหนิติเตียนใส่ตัวเอง การฟื้นฟูเยียวยาชีวิตคงกลายเป็นเรื่องยาก คุณต้องหยุดเสียงในหัวที่คอยปิดกั้นแรงบันดาลใจในตัวเองเช่นนั้น
(7) ส่งผ่านความสงบและสันติสุข
ไม่มีใครจะเข้าใจในสิ่งที่คุณเผชิญอยู่อย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แน่ ๆ และยิ่งถ้าหากตัวคุณกำลังเป็นที่พึ่งพิงให้กับใคร ไม่ว่าจะเป็นลูก ภรรยา สามี หรือบุพการีก็ตาม จงส่งผ่านความสงบไปยังพวกเขา แสดงให้พวกเขารู้ว่าคุณกำลังรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ด้วยความสันติ อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องวิตกกังวลและส่งผลให้คุณรู้สึกกังวลไปด้วย การสะท้อนพลังงานที่ดีให้กันและกันย่อมช่วยให้สถานการณ์เลวร้ายไม่เลวร้ายลงไปกว่าเก่า วิธีที่ได้ผลคือการที่คุณต้องรู้ตัวอยู่เสมอ จงมีสติ และเชื่อมั่นว่ากระบวนการแก้ไขจัดการของคุณจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
(8) ตัดสินใจด้วยตัวเอง
การยกบางเรื่องให้เป็นความรับผิดชอบของบุคคลอื่นเป็นทัศนคติแบบผู้ถูกกระทำ ในสถานการณ์ยาก ๆ คุณจำเป็นจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ว่าจะชอบหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของคุณโดยตรง ทั้งนี้คุณต้องระมัดระวังการคิดทบทวนที่มี “ความบิดเบือน” เป็นส่วนประกอบ อันจะทำให้การตัดสินใจของคุณผิดพลาด ซึ่งได้แก่
- ความกลัว – มองดูรูปแบบการตัดสินใจนี้ว่ามันอยู่ภายใต้ความกลัวใดอยู่หรือไม่ จงเอาชนะความกลัวของคุณด้วยการวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าคุณมีสิ่งใดที่จะรับมือกับมันได้ ความรู้ ความสามารถ เทคนิคเฉพาะ หรือสิ่งใดก็ตามแต่ หากไม่มีก็จงทุ่มเทศึกษาเพื่อให้การตัดสินใจของคุณเต็มไปด้วยความเชื่อมั่น
- ความปรารถนา – แยกให้ออกว่าการตัดสินใจของคุณเกิดจากความปรารถนาส่วนตัวใดหรือไม่ เพราะเรามีแนวโน้มที่จะมองหาสิ่งที่ตรงใจมากกว่าความเป็นจริง และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าความปรารถนาจะทำให้คุณยึดติดและเข้าใจผิดว่าการตัดสินใจของคุณนั้นถูกแล้ว
- ความเห็นของคนอื่นที่ไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความจริงทั้งด้านบวกและลบ – เพราะความคิดเห็นรูปแบบนี้อาจทำให้คุณลอยละล่องกับภาพลวงหรือตกลงสู่ความอับเฉาและทำลายความกล้า โดยเฉพาะความคิดเห็นจากคนที่คุณนับถือหรือผูกพัน เพราะมีโอกาสที่คุณจะไม่ตั้งคำถามเลยว่ามันถูกต้องตามความจริงหรือไม่
(9) มองโลกในแง่ดีเข้าไว้
ฟังดูเป็นคำแนะนำดาด ๆ แต่มันเป็นสิ่งที่คู่ควรต่อการเยียวยาชีวิตมากจริง ๆ แม้เราไม่อาจล่วงรู้อนาคตได้ แต่การมองสถานการณ์ในทิศทางเชิงบวกย่อมสร้างกำลังใจให้คุณรู้สึกสัมผัสถึงความเป็นไปได้มากกว่า ทั้งนี้ อย่าสับสนระหว่างการมองโลกแง่ดีกับการมองโลกอย่างไร้เดียงสา คนมองโลกอย่างไร้เดียงสามักเข้าใจว่าทุกปัญหาจะแก้ไขตัวมันเองได้โดยที่คุณไม่ต้องเข้าไปทำอะไร ซึ่งมันไม่มีทางเป็นแบบนั้น
(10) มองเรื่องเลวร้ายให้เป็นบทเรียน
แม้สถานการณ์เลวร้ายบางอย่างอาจเกิดขึ้นโดยไร้เหตุผล แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นเพราะเป็นผลพวงมาจากการกระทำที่ผ่านมา และด้วยรูปแบบประเภทหลังนี้เองที่คุณควรจะต้องกลับมาคิดทบทวนดูใหม่ นี่อาจเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้ปรับแผนการ วิธีคิด หรือการดำเนินชีวิตให้แตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ จงวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกำหนดโชคชะตาของตัวคุณเองอีกครั้ง ไม่ควรมีการคาดหวังให้อนาคตดีขึ้นจากการกระทำแบบเดิม ๆ
(11) หาวิธีระบายอารมณ์ออกมาบ้าง
ลองมองหาวิธีผ่อนคลายสมองและจิตใจอย่างสร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง ด้วยการทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับการต่อสู้อันแสนยาวนานในการเยียวยาชีวิตได้ กระบวนการฟื้นฟูจิตใจนั้นไม่ต่างจากการรักษาบาดแผลทางร่างกาย มันย่อมต้องใช้เวลา การดูแล การประคับประคองไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความยาวนานของมันก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นหนักหน่วงจากการบาดเจ็บนั้น ๆ
(12) อย่าเสี่ยงโดยไม่จำเป็นอีก
บางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังตกลงไปในหล่มของความเสี่ยงแบบเก่าซึ่งอาจเกิดจากการที่เราอยู่ในห้วงเวลาขาดความยั้งคิด วิธีที่ดีที่สุดคือการระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ คุณใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ได้เพื่อสัมผัสความงดงามของสรรพสิ่ง แต่อย่าลืมตั้งมั่นอยู่บนความเป็นจริงและประเมินทุกการกระทำที่เกิดขึ้น หมั่นถามตัวเองว่าสิ่งที่คุณกำลังทำนั้นมีความหมายอะไร เพื่อให้ความเสี่ยงที่คุณตัดสินใจเป็นไปด้วยความจำเป็นมากกว่าการเสี่ยงแบบไม่มีเหตุผล
แม้ความผิดหวังในชีวิตเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถฟื้นฟูและเยียวยาสภาพจิตใจที่ชำรุดแหลกแตกสลายพร้อมคืนคุณค่าให้กับมันดังที่เคยเป็นมาได้เสมอ ทุกบาดแผลและรอยร้าวในชีวิตจะมีความหมายเป็นแบบใดขึ้นอยู่กับว่าคุณมอบทัศนคติเช่นไรให้กับมัน แต่หากวันนี้คุณรู้สึกว่ามันเกินกว่าที่คุณจะรับไหว มันทรมานเกินไป หรือรู้สึกเหนื่อยที่จะพยายามทำอะไรด้วยตัวเองแล้ว ขอจงอย่ากลัวที่จะเดินไปหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
เพราะชีวิตที่ดี ก็คือชีวิตเดียวกันกับที่เคยมีรอยแผล
แหล่งอ้างอิง : หนังสือ “คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต”
ผู้เขียน : Tomás Navarro (วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปล)
สำนักพิมพ์ : Move Publishing
โพสต์ที่คุณอาจสนใจ