Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : Kintsugi คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต (Tomás Navarro)

รีวิวหนังสือ : Kintsugi คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต (Tomás Navarro)

รีวิว คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️

Tomás Navarro (โทมาส นาวาร์โร)
นักจิตวิทยา นักเขียน ผู้ฝึกสอน และที่ปรึกษาชาวสเปน
ผู้ก่อตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาและแนะนำด้านสุขภาพทางอารมณ์
มีผลงานหนังสือ 6 เล่ม ได้รับการแปลไปแล้วมากกว่า 20 ภาษา
จุดมุ่งหมายของเขาคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มีชีวิตที่สวยงาม
🎯 SUMMARY VIEW 🎯

: คินสึงิ คือศิลปะแบบโบราณของญี่ปุ่นที่ใช้เรียกการซ่อมแซมภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักด้วยการลงรักทอง ทำให้รอยชำรุดนั้นมองเห็นได้ชัด อันแสดงถึงสัญลักษณ์ของความเปราะบาง แข็งแกร่ง และงดงาม เป็นมุมมองสะท้อนทัศนคติของชาวญี่ปุ่นซึ่งเชื่อว่าสิ่งของที่ชำรุดนั้นสามารถซ่อมแซมให้กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับชีวิต

: แม้ชื่อหนังสือดูคล้ายกับเป็นหนังสือปรัชญาญี่ปุ่น แต่วิธีการนำเสนอผู้เขียนได้ตั้งใจถ่ายทอดให้เป็นแบบฮาวทูโดยมุ่งเน้นกระบวนการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เลวร้ายไปจนถึงวิธีปรับทัศนคติและการมองเรื่องราวที่เกิดขึ้น เป็นการใช้ความรู้และประสบการณ์ของนักจิตวิทยามาหลอมรวมเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้อ่านนำไปปรับประยุกต์ใช้กับตนเอง โดยอาศัยมุมมองทางความคิดของปรัชญาคินสึงิเทียบเคียงกับการซ่อมแซมชีวิตอย่างเห็นคุณค่าแม้ว่าจะมีรอยแตกร้าว

: หนังสือแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก นั่นคือ ภาคแรกที่ใช้สำหรับการทำความเข้าใจถึงความเจ็บปวดและสถานการณ์เลวร้ายของชีวิต ในภาคที่สองจึงเริ่มแนะนำกระบวนวิธีการซ่อมแซมชีวิตที่แตกหักบุบสลาย และส่วนสุดท้ายจะเต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้ที่เคยเผชิญหน้ากับความทุกข์เหล่านั้นและวิธีที่พวกเขาใช้มันในการประกอบเศษเสี้ยวของชีวิตตนขึ้นมาใหม่ จนกลับมามีคุณค่าดังเช่นที่เคยเป็นมา

: บางส่วนของเนื้อหามีการสอดแทรกใจความที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นให้เกิดความสงสัยหรือตัวอย่างเรื่องราวที่อาจจะมอบคำตอบให้เมื่อคุณกำลังอ่านแล้วเกิดฉุกคิดบางอย่าง จังหวะการเล่าเหล่านั้นมีความลงตัว ราวกับมีนักจิตวิทยามานั่งคุยใกล้ ๆ

: ท้ายบทจะมีข้อสรุปแต่ละคำแนะนำเพื่อการจับใจความสำคัญที่ควรต้องตระหนักไว้ ถือเป็นการทบทวนความเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่ออีกรอบ

: เราค่อนข้างชื่นชอบการนำเสนอกระบวนวิธีทางจิตวิทยาภายในหนังสือเล่มนี้มาก มันง่ายต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างแท้จริง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียนที่อยากมอบเครื่องมือให้ผู้ที่กำลังพบกับความลำบากของการฟื้นฟูชีวิตที่แตกสลาย – ชีวิตที่มีเพียงหนึ่งเดียวของตนเอง – ให้กลับมามีความหมายอีกครั้ง

เราไม่แน่ใจนักว่าจะมีหลายคนไหมที่ชอบหลบไปเลียแผลใจตัวเองเพียงลำพังก่อนที่จะนำมันไปพูดคุยหรือปรึกษากับใครก็ตามที่เราไว้ใจ และแทบจะเป็นไปไม่ได้กับการนำเอาไปบอกเล่าให้คนแปลกหน้าอย่างนักจิตวิทยาฟังถึงความเจ็บปวดที่เรากำลังเผชิญอยู่ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งเมื่อทุกอย่างมันยากเกินจะรับไหว เราคิดว่านี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กว่าใครสักคนจะยอมพาตัวเองเข้าไปสู่การเยียวยาอย่างถูกวิธี สภาพจิตใจก็บอบช้ำเต็มทีแล้ว

ผู้เขียนอาจจะตระหนักถึงสิ่งนี้ ด้วยประสบการณ์การเป็นนักจิตวิทยามากกว่าสิบปีของเขา ทำให้ความตั้งใจในการมอบอุปกรณ์การเยียวยาตัวเองเบื้องต้นเหล่านี้ถูกถ่ายทอดมาเป็นกระบวนวิธีที่ถึงซึ้งราวกับหนังสือที่สามารถโอบอุ้มได้ทุกความเจ็บปวด เราชอบคำปลอบโยนอย่างจริงใจ การบอกเล่าแนะนำวิธีในแบบที่คนแตกสลายสามารถรับมือได้ เราชอบหนังสือที่เวลาอ่านแล้วเหมือนมีใครสักคนมานั่งพูดให้ฟังอยู่ข้าง ๆ

รีวิวหนังสือ คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต

หนังสือเริ่มต้นเล่าเรื่องระหว่างศิษย์เอกนามว่า โซเคอิ ผู้ซึ่งได้สืบทอดวิชาช่างดินเผาจากโซจิโร่ ช่างดินเผายอดฝีมือแห่งเกียวโต โซเคอิเป็นเด็กหนุ่มผู้เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นในการที่จะเปลี่ยนก้อนดินให้กลายเป็นเครื่องปั้น ด้วยจิตวิญญาณ ด้วยความรัก แน่นอนว่าความทุ่มเททุกอย่างที่เขาบรรจงมอบและสร้างสรรค์อย่างพากเพียรนี้ ยามมันถูกทำให้แหลกสลายเพียงเสี้ยววินาทีย่อมหมายถึงทั้งชีวิต และนั่นคือวินาทีเดียวกันกับที่โซจิโร่หยิบยื่นบทเรียนใหม่ที่แสนลึกล้ำ – วิธีการทำคินสึงิ ซึ่งก็คือการนำเอาภาชนะที่แตกหัก บิ่น หรือมีรอยร้าว มาประสานด้วยรักทองเพื่อให้มันสามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง เป็นการคืนคุณค่าที่มีมาแต่เดิมของมัน คุณค่าที่ไม่เคยสูญหายไปแม้จะเคยแตกสลายมาแล้ว อีกทั้งการซ่อมแซมด้วยเทคนิคคินสึงินี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหลบซ่อนตำหนิของมันเอาไว้ เพราะอย่างน้อยร่องรอยของการพังและฟื้นคืนมาใหม่นั้นได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเปราะบางที่เข้มแข็ง

แล้วเรื่องราวระหว่างศิษย์-อาจารย์คู่นี้ก็ถูกนำมาเชื่อมโยงเข้ากับกระบวนวิธีฟูมฟักเยียวยาชีวิตไปตลอดทั้งเล่ม ซึ่งทำให้เราอ่านแล้วรู้สึกได้ทันทีว่าการรักษาร่องรอยบาดแผลแห่งชีวิตเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำแค่การรับรู้แล้วไปต่อโดยปล่อยมันทิ้งไว้อยู่ในความทรงจำเพียงเท่านั้น

เราต้องเข้าใจมัน และมอบทัศนคติให้แก่ความทรงจำเหล่านั้นเพื่อปิดระบบความเจ็บปวดไม่ให้มันขุ่นมัวขึ้นมาอีกครั้งในยามที่มีอะไรไปกระตุ้น

หากมันเป็นเรื่องยุ่งยากขนาดนั้น เราจะหลีกเลี่ยงมันไปเลยไม่ดีกว่าหรือ? หลายคนอาจมีคำถามเช่นนี้แวบขึ้นมาในหัว

สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต คือ การใช้ชีวิต อย่ากังวลถึงสิ่งที่จะทำให้คุณอาจต้องเจ็บปวดเข้าสักวันเพราะมันคงเทียบไม่ได้กับประสบการณ์ความรู้สึกอิ่มเอมที่เราได้ใช้ไปกับมันอย่างเต็มเปี่ยม ประการแรกผู้เขียนแนะนำให้คุณโฟกัสไปที่ความเข้มแข็ง และเชื่อว่าความแข็งแกร่งของชีวิตคือการที่มันสามารถเยียวยาตัวเองได้เสมอ และมันคงจะดีกว่าที่จะฝึกฝนตัวเองให้รับมือและกอบกู้ตัวเองคืนมาได้ แทนที่จะแค่ใช้ชีวิตให้รอดพ้นไปวัน ๆ

วิธีการใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมเช่นนี้เองที่จะทำให้คุณสัมผัสได้ถึงแง่มุมงดงาม และมันอาจจะยิ่งช่วยสร้างประสบการณ์ความเข้มแข็งทางอารมณ์ให้กับคุณได้อีกด้วย

เพราะฉะนั้นระหว่างการใช้ชีวิตอันมีความหมายของคุณ แล้วบังเอิญไปสะดุดเข้ากับสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ใด ๆ ก็ตามแต่ สิ่งแรกที่ควรทำคือการทำความเข้าใจแหล่งที่มาของความเจ็บปวดเหล่านั้น ผู้เขียนได้จำแนกที่มาไว้เป็นหลายรูปแบบ ได้แก่ ความเจ็บปวดจากเรื่องเลวร้าย ความสับสน ความผิดหวัง ความเปลี่ยนแปลงโดยไม่คาดหมาย เห็นผิด คิดผิด จินตนาการ ความกลัว การคาดการณ์ และสุดท้ายคือความจริง (เมื่อความจริงก็เป็นสิ่งเจ็บปวดได้ด้วยฉะนั้นคุณก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรแล้วล่ะ อย่างไรเสียชีวิตก็ย่อมเจ็บปวด) ซึ่งการจะมองเห็นที่มาเหล่านี้ได้จำเป็นจะต้องอาศัยการวิเคราะห์ด้วยตนเอง ไม่มีใครจะรู้ดีไปกว่าตัวคุณเองอีกแล้ว ขอเพียงแค่คุณต้องยอมเจ็บปวดซ้ำอีกครั้งในการทบทวนมันเพื่อจะหยุดยั้งความเสียหายระยะยาวเอาไว้

หลังจากที่คุณได้ทำความเข้าใจ รับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เฝ้ามองอย่างลึกซึ้งว่ากำลังเผชิญกับอะไรอยู่ กระบวนการต่อมาย่อมหมายถึงการฟื้นฟูเยียวยา เมื่อเห็นแผลคุณก็จะรู้ว่าต้องทำแผลตรงไหน แต่ระหว่างที่คุณกำลังตรอมตรมระทมทุกข์นั้น มีคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้เขียนอยู่อีกนิดหนึ่งที่เราคิดว่ามันสำคัญมาก นั่นคือ อย่ารอให้ตัวเองตกจนถึงจุดต่ำสุด และอย่าจมจ่อมกับความเจ็บปวดนานเกินไป หลายคนอาจรู้สึกว่าต้องดำดิ่งทิ้งตัวเองลงไปให้สุดแล้วจึงยื้อยุดขึ้นมาใหม่ (เราเองก็เป็นหนึ่งคนที่เคยคิดไว้แบบนั้น)

แต่ได้โปรดจดจำประโยคนี้ไว้ – คนเราไม่ได้ตายเพราะตกลงไปในน้ำ แต่เราตายเพราะไม่สามารถขึ้นจากน้ำได้ทันเวลาต่างหาก!

รีวิวหนังสือ คินสึงิ จิตวิทยา พัฒนาตนเอง

วิธีการทำคินสึงิให้กับชีวิตของคุณ วิธีที่คุณจะกอบกู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่แหลกสลายขึ้นมาอีกครั้ง นั่นคือเมื่อคุณวิเคราะห์สถานการณ์ได้แล้วก็จงลองคิดต่อไปอีกถึงสาเหตุที่เกิด กระบวนการโต้ตอบของตัวเองและเหตุผลที่คุณทำมันลงไป สุดท้ายคือมองดูผลที่ตามมาหลังจากนั้น อย่าลืมตอบคำถามตัวเองหลังจากทบทวนดูเป็นอย่างดีแล้วว่า คุณคิดว่าชีวิตควรเป็นอย่างไร? คุณได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้? คุณต้องทำอย่างไม่เพิ่มเสริมเติมแต่ง มองภาพตามความเป็นจริง เหมือนถอยออกมาดูเรื่องราวของคน ๆ หนึ่ง วางตัวเองให้อยู่ในสถานะของผู้เฝ้าสังเกตการณ์ แล้วมอบมุมมองทัศนคติที่ต่างออกไปเพื่อให้เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ใช้เป็นเครื่องเตือนใจว่าเราได้เรียนรู้มันมาแล้ว และการผ่านมันมาคือความเข้มแข็งขึ้นในอีกระดับหนึ่ง เป็นศิลปะของรอยแผลเป็นที่ไม่อาจสร้างความเจ็บปวดขื่นขมให้คุณได้อีกต่อไป

แน่นอนว่ากระบวนการข้างต้นนี้มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยกับการใช้เพียงแค่ชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เพราะบาดแผลย่อมต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูรักษาให้หายดีอยู่แล้ว

การที่เราบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้อย่างสรุปจึงฟังดูเป็นเรื่องง่ายดาย แต่ยามที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์เหล่านั้นมันยากกว่านี้อีกหลายเท่า เราชอบคำแนะนำถึงเรื่องการถอยออกมามอง วิธีการทำมันคือให้คุณตั้งคำถามใส่ตัวเองว่า “สิ่งที่ฉันกำลังทำอยู่นี้มีความหมายอะไร?” และหมั่นถามตัวเองเป็นระยะ เราว่าเป็นวิธีการใช้ชีวิตอย่างมีสติและน่านำไปใช้ ไม่ว่าคุณจะกำลังพบเจอมิติชีวิตในรูปแบบใดก็ตาม

โดยรวมแล้วหนังสือเล่มนี้สำหรับเรานับว่าเป็นคู่มือในการซ่อมแซมตัวเองได้ดีมาก ในระดับที่สามารถปรับใช้ได้ด้วยตนเองและเรียนรู้ไว้เพื่อรับมือกับสถานการณ์อนาคต หากแต่ก็ต้องบอกตามความเป็นจริงว่ายามที่ชีวิตตกอยู่ในวิกฤติ การจะนึกถึงแต่ละขั้นตอนเหล่านี้จำเป็นจะต้องอาศัยทั้งสติและมุมมองเชิงบวก ดังนั้นหากทุกอย่างยากเกินจะรับไหวและคุณรู้สึกควบคุมจัดการสิ่งใดไม่ได้ เราก็ยังมองว่าการพบผู้เชี่ยวชาญย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่า

มันก็คล้ายกันกับบาดแผลที่เกิดบนร่างกายของเรา การรักษาด้วยตนเองสำหรับแผลลึกและสาหัสอาจทำให้มันติดเชื้อและหายยากกว่าการไปพบหมอเลยทันทีตั้งแต่ที่เราเห็นว่ามันดูแย่กว่าที่คิดไว้

เหตุใดเราไม่ทำกับบาดแผลทางจิตใจของเราแบบเดียวกันบ้าง

รีวิวหนังสือ คินสึงิ Kintsugi

“Kintsugi คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต”

ผู้เขียน : Tomás Navarro (วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปล)

จำนวนหน้า : 456 หน้า / ราคาปก : 359 บาท

สำนักพิมพ์ : Move Publishing

หมวด : จิตวิทยา/พัฒนาตนเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง :12 ข้อเพื่อไปต่อกับชีวิต ที่เคยคิดว่าบุบสลาย
รีวิวหนังสือ : จงมองหา “…
หงุดหงิดง่ายกับเรื่องเล็กๆ หัวเสียกับเรื่องเล็กที่สำหรับเราแล้วมันคือเรื่องใหญ่ หรือระเบิดอารมณ์รุนแรงโดยไม่ตั้งใจและยั้งไว้ไม่ทัน อาการเหล่านี้ล้วนเป็น "ช้าง" ตัวใหญ่ที่แฝงอยู่หลังกาย "ยุง" ตัวกระจิ๋ว ชวนคุณมาฝึกฝนไม่ให้เป็นคนเจ้าอารมณ์ด้วยการเข้าใจปมความต้องการพื้นฐานของตนเองผ่านเล่มนี้
ม.ค. 31, 2023
หนังสือ สร้างนิสัย รีวิว
เพราะนิสัยไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการตัดสินใจของสมอง และไม่ใช่ของที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ไปทั้งชีวิต ฉะนั้นไม่ว่าใครก็สามารถมีนิสัยดี-ทิ้งนิสัยเสียได้ทั้งนั้น มาร่วมศึกษากระบวนการเกิดขึ้นของวงจรแห่งนิสัย เพื่อปรับปรุงตัวเองใหม่ให้เป็นเวอร์ชั่นที่น่าภูมิใจ และใช้ชีวิตได้อย่างน่าอภิรมย์
ก.ค. 22, 2023
รีวิวหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด 1
หลักจิตวิทยาระดับปัจเจกบุคคลที่ชวนเรียนรู้ตัวตนก่อนจะก้าวไปทำความรู้จักกับผู้อื่น ว่ากันว่าเมื่อได้รู้จักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์หนึ่งครั้ง จะติดอยู่ในหัวไปทั้งชีวิต
ส.ค. 12, 2021
how to win friends and influence people review thai version bookreview
ต้นแบบหนังสือจิตวิทยาแปลไทยเล่มแรกที่เนื้อหายังคงปรับใช้ได้ในยุคปัจจุบันแม้ผ่านพ้นนานครึ่งศตวรรษ ร่วมศึกษาแนวปฏิบัติที่จะช่วยให้คุณสร้างมิตรทั้งในเชิงธุรกิจและชีวิตส่วนตัว
ก.ค. 24, 2022