เมื่อพูดถึงการเข้าเส้นชัย เรามักจินตนาการภาพความสำเร็จยิ่งใหญ่และผลลัพธ์แห่งชัยชนะ
แน่นอนว่านั่นอาจเป็นส่วนหนึ่ง หากแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด
มันจะมีบางเส้นชัย – อย่างเช่นการวิ่งระยะไกล ที่มักเกิดคำถามว่าทำเพื่อให้ได้อะไรขึ้นมา
ระหว่างบรรทัดและในแต่ละระยะทางภายในเล่มนี้จะทำให้คุณพบคำตอบที่ว่า…มีเพียงผู้ลงสนามเท่านั้นที่น่าจะรู้
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์)
จบสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เคยมีผลงานสร้างสรรค์ทั้งด้านโฆษณา คอลัมน์นิตยสาร และพิธีกรรายการโทรทัศน์
เช่น รายการพื้นที่ชีวิต วัฒนธรรมชุบแป้งทอด
เจ้าของสำนักพิมพ์ KOOB ซึ่งร่วมก่อตั้งกับภรรยา (ชิงชิง สาธิดา เฮ้งสวัสดิ์)
ปัจจุบันมีผลงานหนังสือ บล็อกงานเขียน รวมถึงรายการพอดแคสท์มากมาย
ติดตามได้ผ่านช่องทาง Facebook และ Youtube
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ที่ได้จากการวิ่งในงานเทรลระยะอัลตร้า (103 กิโลเมตร) ที่ฮ่องกง ซึ่งนับเป็นสนามแข่งยอดฮิตอีกแห่งหนึ่งของนักวิ่ง ความท้าทายของมันคือต้องวิ่งผ่านความลาดชันและภูเขานับสิบลูก โดยมีความสูงรวม 5,300 เมตรที่ใกล้เคียงกับความสูงของค่ายฐานเอเวอเรสต์จากระดับน้ำทะเล
: สิ่งที่ชวนให้รู้สึกถึงความระห่ำไม่ใช่แค่เพราะความยากของสนามแข่งขัน หากแต่เป็นการท้าทายขีดจำกัดของตัวผู้เขียนเองที่ไม่เคยลงงานวิ่งด้วยระยะทางเท่านี้มาก่อน อีกทั้งยังเป็นการตัดสินใจที่มีเวลาฝึกซ้อมเพียงแค่ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น!
: เนื้อหาถ่ายทอดความรู้สึกและเรื่องราวตั้งแต่วินาทีที่ตัดสินใจ ตารางการฝึกซ้อม วิธีเตรียมตัว ไปจนกระทั่งชั่วโมงของการลงสนามจริงซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งนอกเหนือไปจากแผน ชวนให้เราลุ้นระทึกและจินตนาการตามด้วยความตื่นเต้น สุข สนุก ปลื้มปีติไปด้วยราวกับกำลังดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรแทนภาพ
: การอ่านของเราคือการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการการวิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องบอกว่ามันกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างลึกๆ และยังชวนให้ซึมซับข้อคิดที่สะท้อนมาถึงเราผู้ซึ่งกำลังเหนื่อยหน่ายกับการติดอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและไม่กล้าที่จะทำอะไรที่ผิดไปจากเดิมๆ ในตอนนี้เลย (ในหนังสือผู้เขียนนิยามความรู้สึกทำนองนี้ว่า ‘ความชราภาพทางจิตวิญญาณ’ ซึ่งพออ่านแล้วรู้สึกว่าเออ...ใช่เลย)
: เล่มนี้น่าจะเป็นอีกเล่มที่เราอ่านต่อเนื่องแบบม้วนเดียวจบโดยไม่รู้ตัว ด้วยความที่มันน่าติดตามและรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองเอาใจเชียร์ตามไปด้วยตลอดทั้งเล่ม อยากรู้แล้วอยากรู้อีกจนหยุดพลิกหน้าถัดไปไม่ได้ ครบรสทั้งความสนุก เพลิดเพลิน เรื่องราวแง่คิดของมุมมองระดับตัวเองและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมทาง (ทั้งสนามวิ่งและสนามชีวิต)
: “แด่ ผู้ที่เชื่อว่าเราไปได้ไกลขึ้นอีก” – คุณยังไม่ต้องเชื่อก็ได้ หรืออาจจะไม่เชื่อก็ได้ แต่เรามั่นใจว่าหลังจากคุณอ่านเล่มนี้จบ คุณจะอยากลองเชื่อดูสักครั้ง

ขีดจำกัดที่ไม่จำกัด
มนุษย์เรามีศักยภาพซ่อนเร้นอยู่ในตัวเสมอ บ่อยครั้งที่คุณอาจพบว่าขีดจำกัดของตัวเองที่เคยตั้งเอาไว้ มันสามารถถูกขยายยืดได้อีกเมื่อพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์จำเพาะเจาะจงให้จำเป็นจะต้องทนฝืนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
แต่สุดขอบของการยืดออกที่ว่า เรากลับไม่ค่อยได้อนุญาตหรือปล่อยให้ตัวเองก้าวไปถึง
และคงจะเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ว่าแล้วเราจะต้องทำไปเพื่ออะไร เราจะต้องทดสอบและอยากรู้ไปทำไม ในเมื่อแต่ละวันที่ผ่านไป เราก็หยิบใช้มันได้เต็มประสิทธิภาพเท่าที่เราจะทำได้อยู่แล้ว
หนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยตอบคำถามนี้ได้ดีทีเดียว…
จากการตัดสินใจลงวิ่งในสนาม HK100 ซึ่งเป็นสนามวิ่งสุดโหดแห่งหนึ่งระดับโลก ด้วยการวิ่งเทรลระยะอัลตร้ามากกว่าร้อยกิโลเมตร ขึ้นเขานับสิบลูกซึ่งมีความสูงรวมกันมากกว่า 5 พันเมตร กับการฝึกซ้อมที่มีเวลาเพียง 10 สัปดาห์ และยิ่งได้ฟังมุมมองการเล่าเรื่องที่ขอรับคำแนะนำจากนักวิ่งผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกได้ว่า คนตัดสินใจนี่ต้องอาศัยความกล้าและบ้าบิ่นมาก! (รองเท้าวิ่งเทรลของพี่เอ๋คือเพิ่งซื้อก่อนบินไปงานล่วงหน้า 3 วัน ซึ่งเป็นอะไรที่เราไม่ใช่นักวิ่งยังอ่านแล้วแบบ…ห๊ะ!?!)
ในอีกแง่มุมหนึ่ง ผู้เขียนสะท้อนภาพมุมมองเรื่องการฉวยคว้าโอกาสที่เข้ามาไว้ก่อน แล้วรับผิดชอบต่อทางเลือกด้วยการลงมือทำเต็มที่ในสิ่งที่จะทำได้ จากความเป็นไปได้ทั้งหมดที่มีในตอนนั้น ซึ่งนับเป็นการทดสอบศักยภาพของตัวเองตั้งแต่กรอบความคิด เพราะถ้าเราไม่ผิด ธันวาคมปี 2019 โลกประกาศเรื่องการตรวจพบเชื้อโควิดก่อนที่จะเข้าประเทศไทยในเวลาต่อมาไม่นาน งานเทรลที่ผู้เขียนเข้าร่วมได้จัดต้นปี 2020 ซึ่งหาก ณ เวลานั้นไม่ได้ตัดสินใจไป ก็เป็นไปได้ว่าอาจถูกเลื่อนออกไปอีกยาว
อีกทั้งการตัดสินใจครั้งนั้นก็ทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ในเวลาต่อมาด้วย 😀
A comfort zone is a beautiful place, but nothing ever grows there. – Gina Milicia
บ่อยครั้งที่การเลือกออกจากพื้นที่ปกติธรรมดาของชีวิตไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ ที่เราไม่อาจคาดเดาอะไรได้ล่วงหน้าจะนำพาความรู้สึกแปลกประหลาดมาให้ บางคนอาจรู้สึกว่าเป็นความตื่นเต้นเร้าใจ ได้ทดสอบความสามารถที่เราไม่เคยได้รู้ แต่เราเชื่อว่ามีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการพาตัวเองออกไปสุ่มเสี่ยงกับความไม่แน่นอนแบบนั้น … เราเป็นหนึ่งคนในประเภทหลัง การติดอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่ไร้ความเสี่ยงแม้จะต้องแลกด้วยความเนือย ความเอือมระอาชีวิต ก็ยังดีกว่าจะต้องออกไปเจอกับสภาวะที่ต้องรับมือกับความยากลำบากต่างๆ นานา จนนานวันเข้าเราก็รู้สึกว่าข้างในตัวเองมันซึมเซาระอิดระอา ไม่กล้าเผชิญหน้ากับเรื่องใหม่ๆ เลยแม้แต่อย่างเดียว
เมื่ออ่านพบเรื่องราวจากผู้คนประเภท “เอาวะ! ลองดูสักตั้ง” เราจึงรู้สึกสัมผัสได้ถึงพลังที่ส่งผ่านมาแบบลึกๆ ชวนฮึกเหิมไปด้วย

Ultra-man & Ultra-power
เราไม่ใช่นักวิ่ง ไม่ใกล้เคียงกับคำนั้น และไม่มีความอยากวิ่งอยู่ในหัวมาก่อน (แต่อ่านเล่มนี้แล้วก็เริ่มอยากลองบ้างเหมือนกัน) กลับอ่านไปก็ยิ่งเกิดความรู้สึกร่วมไปกับวิบากกรรมและความเหนื่อยยากจากการตัดสินใจครั้งนี้ ทั้งอุปสรรคที่เกิดจากร่างกายและสภาพแวดล้อมที่ฝึกซ้อมต่างไปจากสนามจริง ความคิดในยามร่างกายถึงจุดวิกฤตคับขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องสมดุลแรงใจกับเพื่อนร่วมทาง การดิ้นรนค้นลึกรีดเค้นความเชื่อมั่นและสรรพสิ่งที่มีอยู่ในตัวเองทุก ๆ ด้านเพื่อพาร่างไปให้ทันในแต่ละจุด Check Point (จุดตรวจสอบนักวิ่งของสนามที่นักวิ่งต้องผ่าน มักใช้เป็นจุดพักและเติมพลังชั่วคราว รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ; แหล่งอ้างอิงท้ายเล่ม) ต้องบอกว่าเราอ่านไปลุ้นไปและเอาใจช่วยประหนึ่งดูภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดการแข่งขัน ซึ่งไม่ใช่การแข่งกับผู้แข่งขันคนอื่นหากแต่แข่งกับความอ่อนแอภายในตัวเอง และที่ยิ่งไปกว่าการทดสอบพละกำลังทางร่างกาย ไม่ว่าจะสนามแข่งใดๆ เราว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกทดสอบตามไปด้วยไม่น้อยนั่นก็คือพละกำลังทางจิตใจของคนในสนาม
ไม่เว้นแม้แต่สนามชีวิต
“อย่ามีคำว่าหยุดวิ่งขึ้นมาในหัว”
ดังที่หนังสือได้กล่าวไว้ การข้ามผ่านอุปสรรคที่ต้องเจอตลอดระยะทางอันยาวไกล จำเป็นจะต้องอาศัยคุณสมบัติสำคัญของการรู้จัก “อด – ทน – รอ – คอย” หรือหากออกเดินสักพักแล้วพบว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้นั้นยิ่งใหญ่และยากจนเกิดความรู้สึกท้อ ก็ให้ลองหั่นมันออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเก็บเกี่ยวผสมผสานมันไปเรื่อยๆ เหมือนการพาตัวเองไปให้ถึงจุด Check Point การก้าวข้ามเขาให้พ้นทีละลูก บันไดทีละขั้น โค้งทีละโค้ง เก็บสะสมต่อเนื่องไป ก็นับเป็นการเข้าใกล้ความสำเร็จได้ทีละน้อยขอเพียงแค่อย่าหยุดก้าว เหมือนที่มีนักวิ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำผู้เขียน – “อย่ามีคำว่าหยุดวิ่งขึ้นมาในหัว”
ฟังดูเป็นเรื่องง่าย แน่นอนว่าในความเป็นจริงมันไม่ง่ายเลยสักนิด แต่ความยากก็มักให้อะไรกลับมามากกว่าความง่ายดายเสมอ ผู้เขียนได้บอกเอาไว้
เรื่องราวของเส้นชัยไร้เหตุผลนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ดี เพราะนี่ไม่ได้หมายถึงแค่การก้าวออกไปเพื่อรับรู้ศักยภาพหลบซ่อนภายในของตัวเองเท่านั้น หากแต่เป็นการกระทุ้งจิตวิญญาณหงอยเหงาเซื่องซึมของเราให้ลุกออกไปเพิ่มไฟแห่งความกระตือรือร้น ออกตัวจากจุดเริ่มต้นไปพบกับประสบการณ์ใหม่ หรือเผชิญหน้าท้าทายกับอะไรต่อมิอะไรที่ย่างก้าวเข้ามาในชีวิต ลองมองเห็นทุกสิ่งเป็นบททดสอบ เป็นโอกาส เป็นขุมพลังให้เราได้ขยับความสามารถ หรือลองออกไปไล่ตามความฝัน
เปลี่ยนความกลัวให้เป็นความสงสัย แล้วเอามาเป็นแรงผลักดัน คำตอบแห่งผลลัพธ์จะออกมาเป็นแบบไหนก็ช่าง
เพราะเหตุผลที่ดีที่สุดของมัน …อาจไม่ได้อยู่ที่เส้นชัยเลยแม้แต่ข้อเดียว

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“เส้นชัยไร้เหตุผล (Ultraman)”
ผู้เขียน : นิ้วกลม (Roundfinger)
จำนวนหน้า : 320 หน้า / ราคาปก (ปกอ่อน) : 320 บาท
สำนักพิมพ์ : KOOB
หมวด : ความเรียง/สารคดี