ถ้าคุณสามารถทำให้กระบวนการแห่งความพยายามกลายเป็นแหล่งปฐมภูมิของความสุข
นั่นก็คือคุณได้บรรลุถึงสิ่งที่ท้าทายที่สุดในชีวิตแล้ว
– อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่ (เคน โมงิ)
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️ เคน โมงิ (Ken Mogi) นักประสาทวิทยา นักจัดรายการ และนักเขียนชาวญี่ปุ่น จบปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ภารกิจของเขามุ่งเน้นศึกษาหนทางแก้ไขของสิ่งที่เรียกว่าปัญหาทางด้านสมองและจิตใจ เป็นนักวิจัยอาวุโสแห่ง SONY CSL และเป็นศาสตราจารย์รับเชิญในหลาย ๆ สถาบัน งานเขียนของเขาตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่นมากกว่า 50 เล่ม ซึ่งไม่เพียงครอบคลุมเรื่องวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวกับปรัชญา ศิลปะ ตลอดจนวิถีชีวิต
🎯 SUMMARY VIEW 🎯 : อิคิไก เป็นหลักปรัชญาชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่ทำให้เหตุผลของการมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องงดงาม ทรงคุณค่า และมีความหมาย หนังสือได้อธิบายแนวความคิดนี้โดยใช้เสาหลัก 5 ประการ ได้แก่ การเริ่มต้นเล็ก ๆ การปลดปล่อยตัวเอง ความสอดคล้องและยั่งยืน ความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ และการอยู่ตรงนี้ ตอนนี้ : เสาหลักทั้ง 5 ประการดังที่กล่าวไป ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดขึ้นตามลำดับ เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหมด หนังสือได้เล่าอธิบายความหมายของแต่ละส่วนโดยอิงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติญี่ปุ่น ซึ่งช่วยทำให้เราเข้าใจภาพของการแสดงออกที่เป็นรูปธรรมได้ดียิ่งขึ้น : หลังจากการเล่าถึงเสาหลัก 5 ประการแล้ว ระหว่างทางก่อนไปยังบทสรุปท้ายเล่มที่จะชวนคุณทบทวนอิคิไกของตนเอง ได้มีการแบ่งบทตอนเรื่องราวความเป็นอิคิไก 10 บทด้วยกัน ได้แก่ (1) อิคิไกคืออะไร (2) เหตุผลของคนตื่นเช้า (3) โคดาวาริ และประโยชน์ของการคิดเล็ก (4) ความงามในแบบอิคิไก (5) ลื่นไหลและสร้างสรรค์ (6) อิคิไกและความยั่งยืน (7) ค้นหาจุดหมายของชีวิต (8) ถ้าคุณไม่ตาย คุณก็แกร่งขึ้น (9) อิคิไกและความสุข (10)ยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น : เรื่องราวของอิคิไกถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้น และมีหนังสือหลายเล่มที่บอกเล่าเรื่องราวแง่มุมต่าง ๆ ส่วนตัวเราเคยศึกษาอีกเล่มหนึ่ง นั่นคือ อิคิไก วิถีชีวิตเรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่น เขียนโดยเอ็กตอร์ การ์เซีย และฟรานเซสค์ มิราเยส (สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์) ความแตกต่างระหว่างอิคิไกทั้ง 2 เล่มที่เราสัมผัสได้คือ ในส่วนของเล่มสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์จะเป็นการนำเสนอมุมมองการปรับใช้อิคิไกผ่านวิถีชีวิตผู้คนในโอกินะวะซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีผู้อาศัยอายุขัยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก ในขณะที่อิคิไกเล่มนี้จะบอกเล่าวิธีที่คุณจะทำความเข้าใจเพื่อค้นพบหลักปรัชญานี้ภายในตัวเอง : เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบปรัชญาญี่ปุ่นและต้องการศึกษาความเป็นอิคิไกโดยซึมซับแง่มุมเหล่านี้ผ่านทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งในส่วนของการเรียนรู้หลักการและแนวคิดดังกล่าว ก็อาจช่วยให้เราได้กลับมาคิดทบทวนหรือปรับใช้กับความหมายของการมีชีวิตอยู่ของตัวเราเองได้ : ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบวิธีการอธิบายโดยยกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภายในเล่มมาก อ่านแล้วรู้สึกเพลิดเพลินและสนุกไปกับความละเมียดละไมในแบบญี่ปุ่น ช่วยเพิ่มการตระหนักรู้ถึงแนวคิดเชิงปรัชญาชนิดนี้ว่าไม่ใช่ความสับสนหรือยากต่อการเรียนรู้หรือทำความเข้าใจนัก
ชั่วขณะของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน คุณอาจจะเคยมีความรู้สึกแวบขึ้นมาในหัว ทำนองว่า ‘เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรกันนะ ?’ ในโมงยามที่เหนื่อยอ่อนท้อแท้ เรามักโยนคำถามใส่ตัวเองเสมอ (แน่นอนว่าชั่วโมงแห่งความสุขคุณคงไม่ต้องนึกถึงสิ่งเหล่านี้) เราเองเป็นคนหนึ่งที่เมื่อพบหนังสือสักเล่มซึ่งอาจช่วยเราค้นหาคำตอบได้ เราก็ไม่รีรอที่จะคว้ามันมา
เราขอสรุปเงื่อนไขเดียวของอิคิไกตามที่หนังสือให้ไว้ ณ ตรงนี้เลยว่า หากคุณเพียงแค่ยอมรับตัวเอง คุณจะค้นพบอิคิไกในตัวของคุณ
อ้าว! บอกกันแต่เนิ่น ๆ แบบนี้ แล้วหนังสือจะยังมีความสนุกอะไรแอบแฝงกันล่ะ ?
ต้องบอกว่าการที่เรากล้ายกบทสรุปของมันขึ้นมาไว้ตั้งแต่ต้น เพราะเราเชื่อว่าแค่การรู้ว่าต้องทำอะไร ไม่ได้ทำให้หนังสือหมดความน่าสนใจหรือทำให้เนื้อหาส่วนอื่น ๆ ไร้ความหมายไปอย่างสิ้นเชิง ทุกบทตอนที่ อ.เคน โมงิ ถ่ายทอดแง่มุมการมีอิคิไกที่แทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยความลึกซึ้งและเปี่ยมไปด้วยพลัง มันช่วยกระตุ้นเตือนการรับรู้บางอย่างในแบบที่หากคุณไม่ได้อ่าน คุณจะไม่มีทางเข้าใจ
วิธีการนำเสนอปรัชญาอิคิไกภายในเล่ม ผู้เขียนได้สร้างกรอบพื้นฐานที่จะช่วยให้คุณเข้าใจการกำเนิดของมันได้มากขึ้น โดยอ้างอิงกับเสาหลัก 5 ประการ อันประกอบไปด้วย การเริ่มต้นเล็ก ๆ การปลดปล่อยตัวเอง ความสอดคล้องและยั่งยืน ความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ และสุดท้ายคือการอยู่ตรงนี้ ตอนนี้ ซึ่งทุกเสาที่ว่านี้ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างไล่เรียงไปตามลำดับ มันอาจเป็นเพียงเสาเดียวที่มอบความหมาย หรือหลอมรวมเข้ากับอีกหลาย ๆ เสาจนสร้างอิคิไกในแบบที่มีแต่คุณเท่านั้นจะรู้สึก เพราะความเป็นอิคิไกนี้มีลักษณะปัจเจก แต่ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะทางสังคมที่แอบแฝงไว้ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเช่นเรื่องราวของการเข้าถึงสภาวะการรับรู้ความสุข (สุขผัสสะ) โดยอิงกับเสาหลักต้นสุดท้ายคือการอยู่กับตรงนี้ ตอนนี้ ชาวญี่ปุ่นมีความละเอียดอ่อนและจริงจังกับเรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วยามในชีวิตอย่างมาก เนื่องจากพวกเขามองว่ารสชาติของการสัมผัสความสุขเช่นนี้ไม่อาจถูกกระตุ้นเตือนซ้ำ ไม่เหมือนประสบการณ์ที่ได้รับผ่านภาพและเสียงที่เราอาจหวนระลึกถึงมันอีกครั้งเมื่อกลับมาดูหรือฟัง ความเชื่อเช่นนี้สะท้อนออกมาผ่านวัฒนธรรมอย่างเช่นเทศกาลชมดอกไม้ หรือการปลูกมัสก์เมลอนด้วยวิธี ‘หนึ่งต้นหนึ่งลูก’ เพื่อรสชาติหรือความงดงามในระดับผัสสะสูงสุดที่ธรรมชาติจะส่งผ่านมาได้ สิ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ชั่วขณะนั้นของพวกเขากลายเป็นวินาทีของการค้นพบอิคิไก
นับเป็นวินาทีเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ เพราะเมื่อผ่าน “ตรงนี้ – ตอนนี้” ไป ทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
ทว่าก็ไม่ใช่การสัมผัสกับเรื่องราวใหญ่โตโอ่อ่าเท่านั้นที่จะทำให้คุณเข้าถึงอิคิไกได้ ปรัชญานี้มีความเรียบง่ายและถ่อมตัวกว่านั้น
อ.เคน โมงิ ได้เล่าถึงเรื่องราวเกมกีฬาซูโม่ซึ่งถือเป็นกีฬาประจำชาติญี่ปุ่นที่แม้ภายนอกจะดูแข็งกร้าว ดุดัน แต่ในวิถีของการเป็นนักกีฬาซูโม่กลับซุกซ่อนความลุ่มลึกในทุก ๆ แง่มุมไปตั้งแต่การฝึกฝนกระทั่งจนพิธีการแข่งขัน มีเสาหลักของอิคิไกทั้ง 5 ประการสอดแทรกอยู่ภายในกีฬาชนิดนี้ โดยที่ไม่จำเป็นเลยว่าคุณจะต้องไปให้ถึงจุดสูงสุดของความสำเร็จถึงจะบรรลุอิคิไกได้ เพราะโดยหลักการแล้วปรัชญานี้อาจถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อผู้ที่อยู่ระหว่างทางเดินของชีวิตและกำลังรู้สึกอ่อนระโหยโรยแรง
ฉะนั้นในความรู้สึกของเราเมื่อได้ศึกษาแนวคิดปรัชญาอิคิไกเล่มนี้ มันจึงตอบความสงสัยด้วยการปลอบประโลมหัวใจมากกว่าการเข่นเฆี่ยน
เปรียบเสมือนประโยคดังจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่กล่าวว่า – “ความงามที่แท้จริงไม่เรียกร้องความสนใจ” (“Beautiful things don’t ask for attention.” – The Secret Life of Walter Mitty:2013) ซึ่งเรารู้สึกได้ว่าความเป็นธรรมชาติของมันนี้มีความรุ่มรวย ไร้ขอบเขต ราวกับการมีอยู่ของมันเกิดขึ้นมาอย่างเนิ่นนาน เงียบเชียบ และความเจิดจรัสของมันนี่เองที่ทำให้การหยิบยกมานำเสนอในวงกว้างดึงดูดผู้คนให้อยากเรียนรู้อย่างหลงใหล ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่ได้เรียนรู้แล้วนั้น ก็ย่อมจะสัมผัสถึงความงามนี้ภายในตัวเองอย่างเงียบงัน สงบเสงี่ยม
หรือแท้จริงแล้ว … ความหมายของการมีชีวิตอยู่ ก็คือการรู้สึกถึงการมีอยู่ เพียงแค่นั้น
ซื้อหนังสือออนไลน์
“อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่ (The Little Book of Ikigai)”
ผู้เขียน : Ken Mogi
(วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปล)
– ข้อมูลฉบับพิมพ์ใหม่ล่าสุด –
จำนวนหน้า : 252 หน้า / ราคาปก : 275 บาท
สำนักพิมพ์ : เชนจ์พลัส
หมวด : ปรัชญา/พัฒนาตนเอง