โลกที่รวดเร็วใบนี้อาจทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีเวลาพอที่จะใคร่ครวญถึงความตาย
ในขณะที่ใครหลายคนอาจกำลังค้นหาความหมายของการมีชีวิต
งานเขียนเล่มนี้ไม่ได้นำเสนอคำตอบเบ็ดเสร็จสำหรับทั้ง “การจากไป” และ “มีชีวิตอยู่”
แต่สิ่งที่คุณจะได้รู้ … คือบทเรียนตกผลึกจากผู้ที่ซึมซับทุกวินาทีกึ่งกลางระหว่างสองสถานะนั้น
✒️ ประวัติผู้เขียน มิตช์ อัลบอม (Mitch Albom)
Mitch Albom (มิตช์ อัลบอม) นักข่าว นักเขียน นักจัดรายการ และนักดนตรี เคยได้รับเลือกจากสมาคมบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ด้านกีฬา ให้เป็นนักเขียนคอลัมน์กีฬาอันดับหนึ่งของอเมริกาถึงสิบครั้ง ผลงานการเขียนของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน 49 ประเทศ ถูกแปลไปถึง 47 ภาษา และยังได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ที่ได้รับรางวัล Emmy Awards เขาเคยร่วมแสดงดนตรีในนามวง The Rock Bottom Remainders เพื่อระดมเงินโครงการรู้หนังสือ ซึ่งหนึ่งในสมาชิกวงคือสตีเวน คิง ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่กับภรรยาในเมืองดีทรอยต์ ทำงานควบคู่ไปกับกิจกรรมองค์กรการกุศลที่เขาจัดตั้งอีก 9 แห่งในพื้นที่
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวการถอดบทเรียนวิชาความหมายแห่งชีวิตจากครูมอร์รี ชวอตส์ ผู้ป่วยโรคเอแอลเอสที่ระบบเซลส์ประสาทนำคำสั่งทำงานผิดปกติและส่งผลให้กล้ามเนื้อทั่วทั้งร่างกายค่อย ๆ อ่อนแอลงเรื่อย ๆ (ในสหรัฐอเมริกาเรียกโรคนี้ว่า โรค ลู-เก-ริก โดยตั้งชื่อตามนักเบสบอลที่ป่วยเป็นโรคนี้) ผ่านลูกศิษย์คนสนิทในชีวิตเขา มิตช์ อัลบอม : เนื้อหาถูกเรียบเรียงจากการเข้าเยี่ยมครูในทุกวันอังคาร ซึ่งเขาและครูจะหยิบยกเรื่องราวบางแง่มุมอันมีความหมายลึกซึ้งในชีวิตที่ครูต้องการให้มันเป็นบทเรียนเตือนใจเขา แต่ละตอนไม่ยาวนัก ตัดสลับไปกับการเล่าถึงช่วงเวลาที่เขาและครูเคยใช้ชีวิตด้วยกันในสมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งการสื่อความผ่านสายสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับศิษย์ภายในหนังสือทำให้เรารู้สึกได้ถึงความอบอุ่น หวังดี และเต็มไปด้วยข้อคิดให้กับตัวเราด้วย : เรื่องที่ทั้งสองคนเปิดบทสนทนาได้แก่เรื่องโลก ความเสียใจ ความตาย ครอบครัว ความรู้สึก ความชรา เงิน การแต่งงาน วัฒนธรรม การให้อภัย และความสมบูรณ์แบบ คงไม่อาจมีบทเรียนใดที่ดีไปกว่าคำสอนตกผลึกจากผู้ที่ซึมซับความตายด้วยสายตาแห่งความเอื้ออารีอีกแล้ว : การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวผู้เขียนทำให้เรารู้สึกไปกับภาพที่เขาบอกเล่าราวกับอยู่ด้วยที่นั่น และยิ่งทุกครั้งของการพบกันเกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่การเสื่อมถอย ก็ยิ่งสร้างมวลความรู้สึกข้างในให้ทำงานกับบทเรียนของครูมอร์รีมากขึ้นไปอีก : เหมาะสำหรับทุกคนนะเราคิดว่า นี่เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ทว่าเนื้อหาและคุณค่าที่ส่งต่อไม่ได้น้อยไปกว่าความพยายามถ่ายทอดทุกสิ่งจากครูไปสู่ศิษย์รักของเขาเท่าที่ชีวิตจะเอื้ออำนวยให้เลย เมื่อปลายทางของมนุษย์ก็คือความตายที่เราไม่อาจรู้วันได้ การคิดถึงมันเอาไว้บ้างก็น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างต่อการใช้ชีวิตคนเราในแต่ละวัน
ไม่รู้จะมีอีกกี่อังคาร
หากเปรียบชีวิตของมนุษย์เราคือการเดินทางบนเส้นตรงหนึ่งเส้น แน่นอนว่าการใช้ชีวิตของทุกคนคือการอยู่ระหว่างจุดสองจุด นั่นคือการเกิดและการตาย เรารู้จุดเริ่มต้นของเส้นแต่ไม่รู้ว่าที่สุดของอีกด้านนั้นคือตรงไหน เมื่อไรคือก้าวเดินสุดท้าย และเรามาถึงจุดไหนของเส้น ๆ นี้แล้ว
คุณครูมอร์รีในวัยหกสิบกว่าเริ่มได้รับสัญญาณประหลาด ๆ เกี่ยวกับร่างกายของตนเองที่นอกเหนือไปจากอาการร่วงโรยไปตามวัยชราดังที่ควรจะเป็น สิบปีต่อมา คำตอบนั้นก็ชัดเจนขึ้นว่าครูป่วยเป็นโรคเอแอลเอส (โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลส์ประสาทนำคำสั่ง ทำให้มันค่อย ๆ เสื่อมถอยลงและส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงเรื่อย ๆ) ซึ่งยังไม่มีทางรักษา นับแต่วันนั้นทุกอย่างก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป กระทั่งผลกระทบจากความเลวร้ายของโรคได้ลามมาถึงกิจวัตรประจำวันอย่างเช่นการเดิน ยืน นั่ง และการทำธุระส่วนตัว
มิตช์ อัลบอม นักเรียนคนหนึ่งในชั้นเรียนของครูมอร์รี ผู้ซึ่งสนิทสนมกับครูมากระหว่างการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยแต่หลังจบการศึกษาเขาก็แยกย้ายไปสู่เส้นทางการทำงานและไม่ได้ติดต่อกับครูอีกแม้จะเคยรับปากว่าจะคอยส่งข่าวคราวเสมอ ชีวิตที่มุ่งไปสู่ความมีชื่อเสียงและความสำเร็จที่ได้มาของเขาดูจะคอยแต่ดูดดึงวิญญาณราวกับโซ่ตรวนที่พันธนาการให้เขาต้องขวนขวายไม่จบไม่สิ้นเพื่อรักษามันเอาไว้ กระทั่งวันหนึ่ง คืนวันหยุดสุดสัปดาห์ รายการทางโทรทัศน์รายการหนึ่งก็นำเสนอเรื่องราวของชายคนเดียวกันกับที่เคยเปลี่ยนชีวิตของเขามาแล้ว “ใครคือ มอร์รี ชวอตส์”
แล้วเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ก็เริ่มต้นขึ้น เป็นบทเรียนจากชายผู้ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นกับความตาย … ครูที่เป็นครูจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
สิ่งที่ทุกคนรู้ แต่น้อยคนที่จะเชื่อ
มิตช์ได้กลับไปหาครูอีกครั้งหลังจากได้ดูรายการ ทุก ๆ วันอังคารทั้งสองจะมีนัดกันเพื่อพูดคุยถึงการเดินทางสู่จุดสุดท้ายในชีวิตของครูมอร์รี ทั้งวิธีการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น การจัดการความรู้สึกของตัวเองเมื่อพบว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับพาหนะที่บรรจุจิตวิญญาณในการดำรงชีวิตขณะนี้ ความคิดใดบ้างที่โลมเลียหัวใจและหลอมความรู้สึกนึกคิดของคนที่ใกล้จะจบชีวิตให้ยังมีทัศนคติและมุมมองที่ดีต่อสัญญาณที่ดูน่ากลัวสำหรับใครหลายคน
ครูมอร์รีบอกว่าทุกคนรู้ตัวว่าจะต้องตาย แต่ไม่มีใครเลยที่เชื่อเช่นนั้นจริง ๆ เพราะหากเราเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องตายแล้ว หลายคนอาจจะทำอะไรที่ต่างไปจากสิ่งที่ทำอยู่ เพราะวิธีที่ดีที่สุดนั้นคือการเตรียมตัวให้พร้อมในทุกขณะจิต แล้วจะทำให้เราใส่ใจกับชีวิตมากขึ้น
“เมื่อเธอรู้ว่าจะตายอย่างไร เธอก็จะรู้ว่าควรมีชีวิตอยู่อย่างไร” … นี่คือสิ่งที่ครูบอกกับมิตช์ อัลบอม และได้ถ่ายทอดมาถึงเราทุกคนที่ถือเล่มนี้อยู่ในมือด้วย
ความหวาดกลัวไม่ได้อยู่ที่นั่น …มันอยู่ที่นี่
ความงดงามของหนังสือเล่มนี้คือขณะที่เราอ่านเรื่องราวของใครสักคนที่กำลังเข้าใกล้ความตายมาก ๆ แล้วพบว่าเขาไม่แสดงทีท่าหวาดกลัวเท่าตัวเราที่ไล่เรียงอ่านแต่ละประโยคของความเสื่อมสลายทางร่างกายแล้วรู้สึกทรมานเมื่อนึกย้อนกลับมาเป็นตัวเราเองเลย ซ้ำยังสามารถมีมุมมองที่ดีต่อมัน ต่อทุกสภาวะที่เกิดขึ้น ครูมอร์รีตั้งใจถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแน่วแน่ พร้อม ๆ กับการเป็นที่พึ่งทางใจในแบบที่ใครหลายคนอาจไม่คาดคิดว่าชายผู้ที่แทบจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้คนนี้กลับมีหัวใจที่แสนเข้มแข็ง
3 สิ่งสำคัญที่จะทำให้ตายโดยไม่เสียดายภายหลัง
ความสำคัญที่เราค้นพบจากหนังสือที่ครูมอร์รีสอน มี 3 อย่างที่เราอยากจะยึดโยงเอาไว้ อย่างแรกคือ “การปล่อยวาง” ครูมอร์รีสอนว่าการปล่อยวางสำหรับเราไม่ใช่การปิดกั้นประสบการณ์เพื่อเลิกยึดติด หากแต่เป็นการเปิดรับทั้งหมดให้มันผ่านเข้ามา ไม่ว่าดีร้าย เศร้าหรือสุข เมื่อเราปล่อยให้มันผ่านเข้ามาอย่างเต็มที่ รู้สึกกับมันอย่างถ่องแท้ เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถปล่อยวางได้
สิ่งถัดมาคือ “การอยู่กับปัจจุบัน” จงซึมซับทุกอย่างในชั่วขณะนั้น อยู่กับสิ่งนั้น กับความรู้สึกตอนนั้น หรือกับคน ๆ นั้นด้วยความเต็มตื้น ดังเช่นที่ทุกครั้งเมื่อใครกำลังคุยกับครู ครูก็จะพยายามพุ่งความสนใจกับบทสนทนาที่เกิดขึ้น ไม่นึกถึงสิ่งอื่น
และสิ่งสุดท้ายคือ “การลงทุนกับคน” จงสร้างสังคมที่มีแต่คนที่เรารักและรักเรา ให้ความสำคัญกับพวกเขาเหล่านั้น ในขณะเดียวกันก็ค้นศักยภาพของตัวเองให้ลึกซึ้งว่าเราสามารถเป็นแบบใดได้ ถือเป็นการลงทุนกับตัวเอง และเมื่อถึงวันที่เราใกล้ตาย เราจะพบว่าทุกคนล้วนไม่ต่าง คือเกิดแล้วดับ และไม่ว่าจะอยู่ในช่วงใดของชีวิต เราล้วนต้องพึ่งพาผู้อื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ
ครูผู้ให้
เรื่องราวที่ถูกหยิบยกมาทุกบทเรียนในแต่ละสัปดาห์ล้วนมีความหมายมาก สำหรับเรานี่คือหนังสือที่ให้ได้ทั้งความอบอุ่นและแง่มุมอันงดงามของการมีชีวิตแม้ว่าในขณะนั้นสำหรับผู้ที่กำลังบอกเล่าแล้ว เวลาของเขาเหลือน้อยลงไปทุกที แต่การพร้อมเผชิญหน้ากับความตายของครูมอร์รีนั้นยิ่งกว่าสิ่งที่เรียกว่าความเข้มแข็ง มันคือทัศนคติอย่างคนที่มองโลกด้วยสายตาแห่งความเอื้ออารีทั้งต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง ในขณะเดียวกัน คุณจะรู้สึกถึงพลังแห่งสายสัมพันธ์ของครูและศิษย์ – มิตช์ อัลบอม ที่ต่างสะท้อนกลับไปมาผ่านวิชาสุดท้ายของการเรียนการสอนระหว่างเขาทั้งสองคน
เราเชื่อเหลือเกินว่าใครก็ตามที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ล้วนต้องอยากส่งต่อความดีงามของมัน เพราะนอกจากมันจะเหมาะสำหรับการเป็นคู่มือเพื่อใช้เตือนสติยามที่เรากำลังรุดไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดพักแล้ว มันยังช่วยให้เราคิดทบทวนถึงการใช้ชีวิตในทุกวันนี้ว่ามีสิ่งใดที่ยังขาดตกบกพร่องไปบ้างหากเราจะต้องตายในวันรุ่งขึ้น ไม่แน่ว่าการเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนสักวันซึ่งไม่เร็วก็ช้าอาจเปิดโอกาสให้เราใช้เวลาที่มีได้ดีกว่าที่ผ่านมา
และก็ไม่แน่อีกเช่นกันว่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่เราตามหา อาจถูกค้นพบขึ้นมาทันทีที่เราตระหนักถึงความตายของตัวเอง
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี Tuesday with Morrie”
ผู้เขียน : Mitch Albom
(อมรรัตน์ โรเก้ แปล)
(ฉบับตีพิมพ์ล่าสุด) จำนวนหน้า : 204 หน้า / ราคาปก : 198 บาท
สำนักพิมพ์ : ฟีก้า
หมวด : วรรณกรรม